แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 1รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มามอบให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยจำเลยที่ 4ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุน เป็นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6กู้ยืมเงินตามพระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 แล้ว แม้พระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯมาตรา 3 จะบัญญัติว่า ผู้กู้ยืมเงินหมายความว่าบุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงินและในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนถือได้ว่าจำเลยที่ 4และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ แม้จำเลยที่ 4 จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ และเป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 อยู่นั่นเอง แม้ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ในข้อหาฉ้อโกงและความผิดต่อพระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯแต่พนักงานอัยการโจทก์ยังอุทธรณ์คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้กระทำผิดตามพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวก็ตาม แต่ตามเจตนารมณ์ ของพระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 10 นั้น แม้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะผู้ต้องหาและหากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นบุคคลล้มละลาย พนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะฟ้องยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดหรือไม่ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้ล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งหก โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกชั่วคราว ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกชั่วคราวตามคำร้อง
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ประกาศโฆษณาข้อความเท็จหลอกลวงผู้เสียหายทุกคน การทำสัญญาของผู้เสียหายมิได้เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวง ผู้เสียหายทุกคนได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทุกประการ จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้กู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินและรับเงินจากผู้เสียหายโดยตรง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นจำนวนหนี้ที่แน่นอนเพราะผู้เสียหายแต่ละรายมิได้นำเงินผลประโยชน์ที่รับจากจำเลยที่ 1มาหักออก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การว่า มิได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 4 เป็นผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 5 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 จำเลยที่ 4 และที่ 6 มิได้โฆษณาหรือชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และมิได้ร่วมกับจำเลยอื่นประกอบธุรกิจจัดหาเงินทุนรับกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ เป็นตัวแทนหรือนายหน้า และจัดหาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน หากแต่จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของผู้เสียหายในการนำเงินไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1ไปมอบให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายทุกคนได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เพียงแต่ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเท่านั้นจำเลยที่ 6 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และมิได้มีนิติสัมพันธ์กับผู้เสียหาย จำเลยที่ 4 ได้ลงทุนกับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 6,000,000 บาทเศษ และได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกขอเรียกทรัพย์คืน และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ล้มละลาย จำเลยที่ 4และที่ 6 มิใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมิได้กระทำความผิดตามมาตรา 4, 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 5 มิได้ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมเงินในหนังสือสัญญา หรือเอกสารใด ๆ จำเลยที่ 5 จึงมิใช่ผู้กู้ยืมเงิน เพราะสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้อง เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายจำเลยที่ 5 มิใช่ผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำนวนเงินตามฟ้องยังมิอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 5 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 10
จำเลยที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 4 และที่ 6 นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 สองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ประกาศชักชวนบุคคลทั่วไปให้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน หรือร้อยละ 96 ต่อปีซึ่งมากกว่าที่สถาบันการเงินจะพึงให้ได้ตามประกาศของกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.6 เมื่อลงทุนครบ 6 เดือน แล้วผู้ร่วมลงทุนจะถอนทุนคืนก็ได้ ได้มีผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 ประมาณ 551 ราย รวมกันเป็นเงินประมาณ 79,000,000 ล้านบาทเศษ ทั้งก่อนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ใช้บังคับและหลังใช้บังคับแล้ว ผู้ร่วมลงทุนได้ผลประโยชน์ตอบแทนตลอดมาจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนและจ่ายทุนคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนได้ ผู้ร่วมลงทุนได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวก ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4และที่ 6 มีว่า จำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527หรือไม่…เห็นว่า การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 1รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มามอบให้กับผู้ร่วมลงทุนโดยจำเลยที่ 4ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุน เป็นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 แล้ว ที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ว่าเป็นตัวแทนของผู้ร่วมลงทุนจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกาว่าจำเลยที่ 4และที่ 6 ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงไม่ใช่ผู้กู้ยืมตามพระราชกำหนดดังกล่าวเห็นว่า ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในพระราชกำหนดนี้…”ผู้กู้ยืมเงิน”หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงินและในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย” แม้พระราชกำหนดจะได้บัญญัติไว้ดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนถือได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินด้วยทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้แม้จำเลยที่ 4 เป็นผู้เสียหายได้ร่วมกับพวกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีอาญาต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชกำหนดว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 และเป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายก็ตามก็ยังถือว่าจำเลยที่ 4และที่ 6 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 อยู่ นั่นเอง จำเลยที่ 6ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 4 หรือ มาตรา 5 โดยจำเลยที่ 6 ฎีกาอ้างเหตุว่า พนักงานอัยการกรมอัยการ ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 6 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 ต่อศาลอาญา ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2527คดีหมายเลขแดงที่ 2325/2533 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์เรืออากาศตรีหญิงสดศรี อมรวิสัยสรเดช ที่ 1 นาวาอากาศเอกพงษ์ อมรวิสัยสรเดช ที่ 2 (คือจำเลยที่ 6 ในคดีนี้) ซึ่งคดีอาญาดังกล่าวมูลคดีและเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้ ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 6 คดีนี้) จำเลยที่ 6 จึงไม่ใช่เป็นผู้กู้ยืมเงิน และมิได้เป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 หรือมาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 เห็นว่า แม้ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 แต่พนักงานอัยการโจทก์ยังได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้กระทำผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าวก็ตาม แต่ตามเจตนารมณ์ ของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 10 นั้น แม้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะผู้ต้องหาและหากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นบุคคลล้มละลาย พนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะฟ้องยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดหรือไม่พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้ล้มละลายได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน