คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4696/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันนิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ซึ่งมีหนังสือหลักฐานการรับเงินขายรถยนต์จึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118วรรคแรก เดิม (มาตรา 155 วรรคแรกใหม่) และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสอง เดิม (มาตรา 155วรรคสองใหม่) และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าหนังสือหลักฐานการรับเงินขายรถยนต์เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงมีผลบังคับกันได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายขอเรียกเงินคืน จำเลยให้การต่อสู้ว่า ความจริงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินกัน เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ตามที่จำเลยต่อสู้ ย่อมไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายรถยนต์ให้โจทก์เป็นเงิน 68,000 บาทต่อมาผู้แทนบริษัทกลการ จำกัด มายึดรถคันดังกล่าวไปเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 73,100 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 68,000 บาท
จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ตามฟ้องและจำเลยไม่เคยรับเงินจำนวน 68,000 บาท จากโจทก์ แต่รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์ในฐานะผู้กู้เงินมิได้รับในฐานะผู้ขายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาสืบตัวโจทก์เป็นพยานจนจบคำซักถาม โจทก์และจำเลยตกลงให้ถือเอาคำพยานโจทก์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2924/2530 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง นายประชา รักกิจศิริกุลโจทก์ นายปกรณ์ ผุดบัวดง จำเลย กับพยานโจทก์ที่เบิกความมาแล้วเป็นพยานในคดีนี้ และให้ศาลวินิจฉัยตามคำพยานดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 68,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 50,000 บาท โดยจำเลยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ซึ่งมีหนังสือหลักฐานการรับเงินขายรถยนต์จึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118วรรคแรก เดิม (มาตรา 155 วรรคแรกที่แก้ไขใหม่) และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสอง เดิม (มาตรา 155วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่) และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่า หนังสือหลักฐานการรับเงินขายรถยนต์เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างจำเลยกับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายขอเรียกเงินคืน จำเลยให้การต่อสู้ว่า ความจริงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินกันเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ตามที่จำเลยต่อสู้ ย่อมไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก
พิพากษายืน

Share