คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 แม้จำเลยจะฎีกาอ้างอิงข้อกฎหมายมาประกอบ แต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอื่น หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามฎีกาเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343, 91, 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า คดีมีมูลประทับฟ้องไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกคนละ 4 ปียกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7, 8 จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1, 2, 5 และ 6 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ที่ 4ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำกำไรจนสามารถแบ่งปันผลกำไรให้แก่ผู้ร่วมลงทุนได้ถึงร้อยละ 8 ต่อเดือนของเงินซึ่งนำมาลงทุน ทั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4มิได้มีหน้าที่หาเงินจากประชาชนและมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาร่วมลงทุน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว และที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาอ้างอิงข้อกฎหมายมาประกอบก็เป็นข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 3 ที่ 4

Share