แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 94,257.18 บาท ตามสัดส่วนมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 77,257.18 บาท ตามสัดส่วนมูลค่าหุ้นบริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด ที่ยังส่งใช้ไม่ครบแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระเงินแก่โจทก์ 94,257.18 บาท ตามสัดส่วนมูลค่าหุ้นของบริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด ที่จำเลยแต่ละคนยังส่งใช้ไม่ครบ นอกจากที่แก้ให้คงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด มีจำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้น โดยจำเลยที่ 1 ถือหุ้น 2,000 หุ้น คงค้างชำระ 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ถือหุ้น 2,000 หุ้น คงค้างชำระ 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ถือหุ้น 2,000 หุ้น คงค้างชำระ 100,000 บาท จำเลยที่ 4 ถือหุ้น 1,500 หุ้น คงค้างชำระ 75,000 บาท จำเลยที่ 5 ถือหุ้น 1,500 หุ้น คงค้างชำระ 75,000 บาท จำเลยที่ 6 ถือหุ้น 500 หุ้น คงค้างชำระ 25,000 บาท และจำเลยที่ 7 ถือหุ้น 500 หุ้น คงค้างชำระ 25,000 บาท ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 บริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2545 ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สาขาห้วยขวาง 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ โดยต้องชำระภาษี 85,628.59 บาท แต่บริษัทชำระค่าภาษีเพียง 30,000 บาท โจทก์จึงแจ้งให้บริษัทชำระค่าภาษีส่วนที่ขาด ต่อมามีการชำระค่าภาษีเพิ่มอีก 6 งวด รวมเป็นเงิน 17,000 บาท แล้วเพิกเฉยไม่ชำระค่าภาษีที่เหลืออีก 38,628.59 บาท ตามสำเนาแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำเนาใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร สำเนาแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง และสำเนาหนังสือเตือนให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ต่อมาบริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด ถูกนายทะเบียนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนเนื่องจากเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 ตามสำเนาหนังสือรับรองโจทก์สืบหาทรัพย์สินของบริษัทเพื่อนำมาชำระหนี้ แต่ไม่พบ โจทก์แจ้งให้กรรมการบริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด เรียกให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระ แต่บริษัทไม่ดำเนินการ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งเจ็ดนำเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระมาชำระค่าภาษีของบริษัท ตามสำเนาหนังสือเตือนให้นำเงินไปชำระมูลค่าหุ้นพร้อมสำเนาใบตอบรับไปรษณีย์ แต่จำเลยทั้งเจ็ดเพิกเฉย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า การฟ้องคดีของโจทก์ชอบหรือไม่ จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดี ถึงแม้บริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด ลูกหนี้จะถูกนายทะเบียนบริษัทขีดฆ่าชื่อ แต่ยังสามารถดำเนินการเพื่อให้มีการเรียกตัวบริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด หรือกรรมการบริษัทหรือผู้ชำระบัญชีของบริษัทเข้ามาในคดีได้ แต่กลับไม่ดำเนินการตามกฎหมาย จึงเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน เนื่องจากลูกหนี้ย่อมทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าบริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด จะถูกนายทะเบียนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2551 ตามสำเนาหนังสือรับรอง เป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายยังบัญญัติหนทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่าหากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ซึ่งกรณีของโจทก์ย่อมเข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจากการที่บริษัทดังกล่าวถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคล เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัทคอนเซ็ป คอนซัลแทนต์ จำกัด ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามมาตรา 234 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด