คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ. ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่บริษัท ว. เป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเหตุเกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยด้วยความประมาทเลินเล่อ โจทก์ที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ บ. ผู้ประสบภัยจึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บริษัท ว. จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท แล้ว เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 บริษัท ว. มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นนี้จำเลยที่ 2 ชอบที่จะกันเงิน 50,000 บาท ไว้เพื่อคืนแก่บริษัท ว. ดังนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงเหลือเพียง 50,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 วางเงินชำระต่อศาลชั้นต้นไว้แล้ว 50,000 บาท เมื่อรวมกับเงิน 50,000 บาท ที่ต้องกันไว้เพื่อคืนบริษัท ว. แล้ว เป็นเงิน 100,000 บาท เต็มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิตแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีก แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 วางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงมีความรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน 50,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2550

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4456/2550 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์สำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4456/2550 ดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,035,433 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 วางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 344,833 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 46,000 บาท และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 15,610 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 7,610 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 กรกฎาคม 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 4,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 600 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลฎีกา จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 1731 ตาก ไว้ต่อจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิต ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยลงสะพานต่างระดับแล้วเลี้ยวไปด้านขวาเพื่อกลับรถอย่างกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ก – 0214 ชลบุรี ที่แล่นตามมา พุ่งชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จนนายบัญชา ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ที่ 1 และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์กระเด็นจากรถ ศีรษะกระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา โดยจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าว ก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ได้จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว 50,000 บาท
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า นอกจากเงินที่จำเลยที่ 2 วางต่อศาลชั้นต้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เพื่อชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 2 ยังมีความรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 อีกหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถจักรยานยนต์ที่นายบัญชา นั่งซ้อนท้ายมา มีการเอาประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไว้ต่อบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด หลังเกิดเหตุบริษัทดังกล่าวได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 50,000 บาท โดยจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท และจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท กรณีนี้ความเสียหายเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยภาคบังคับไว้ต่อจำเลยที่ 2 โดยมีจำนวนเงินคุ้มครองกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต 100,000 บาท บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดแทนจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงิน 50,000 บาท ที่จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น จึงคงเหลือวงเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอีก 50,000 บาท จำเลยที่ 2 วางเงิน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 อีก หากจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอีก 50,000 บาท โจทก์ที่ 1 จะได้รับค่าเสียหาย 150,000 บาท เกินจำนวนเงินคุ้มครองกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต และบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด จะไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 รับผิดเต็มวงเงินแล้ว นั้น เห็นว่า นายบัญชาซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเหตุเกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัย เลี้ยวกลับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้รถจักรยานยนต์พุ่งชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และนายบัญชาตกจากรถจักรยานยนต์ศีรษะกระแทกพื้น โจทก์ที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบัญชาผู้ประสบภัยจึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ ให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย และในกรณีที่รถตั้งแต่สองคันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถ ให้บริษัทที่รับประกันภัยรถแต่ละคันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์คันที่นายบัญชานั่งซ้อนท้ายมาได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท แล้ว เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ตามบทบัญญัติมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่นนี้ จำเลยที่ 2 ชอบที่จะกันเงิน 50,000 บาท ไว้เพื่อคืนแก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ดังนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงเหลือเพียง 50,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 วางเงินชำระต่อศาลชั้นต้นไว้แล้ว 50,000 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ต้องกันไว้เพื่อคืนบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด แล้ว เป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งเต็มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิตตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีก ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังขึ้น แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 วางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงมีความรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน 50,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 รวมระยะเวลา 326 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 3,349.31 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเฉพาะดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,349.31 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share