แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อทำการสอบสวนโจทก์เรื่องกระทำผิดอาญาต่อจำเลย แม้จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานแก่โจทก์ สภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยก็ยังมีอยู่จนกว่าจำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้าง ต่อมาเมื่อจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยให้การเลิกจ้างมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เป็นต้นไป ดังนี้ สภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างนับแต่วันที่การเลิกจ้างมีผล.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาวันที่1 พฤศจิกายน 2527 จำเลยสั่งพักงานโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดอาญา และต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2528 จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่มีความผิดไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย โดยให้มีผลตั้งแต่วันสั่งพักงาน จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย โบนัส ค่าเสียหายระหว่างพักงาน กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จำเลยจะปลดโจทก์ออกจากงานเนื่องจากลักทรัพย์นายจ้าง แต่โจทก์ขอให้จำเลยสอบสวนข้อเท็จจริงโดยไม่ขอรับเงินเดือน และขอให้สั่งพักงานจำเลยจึงสั่งพักงานโจทก์ จำเลยสอบสวนแล้ว เห็นว่าโจทก์กระทำผิดจริงและทราบว่าโจทก์มีประวัติเสียหายขณะรับราชการซึ่งโจทก์ปกปิดมิได้กรอกข้อความไว้ในใบสมัครงาน จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่สั่งพักงานเป็นต้นไป การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายและเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ลักทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อเลิกจ้างโจทก์มิได้แต่โจทก์ปกปิดประวัติการทำงานของโจทก์ ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ระหว่างโจทก์ถูกสั่งให้พักงานจำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างและได้มีคำสั่งปลดออกจากงานในภายหลัง แสดงว่าจำเลยมีเจตนาไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างนับตั้งแต่วันสั่งพักงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน และโจทก์ทำงานกับจำเลยไม่ครบ 1 ปี ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เกินกว่า 7 วันโดยไม่จ่ายค่าจ้างไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างและคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ซึ่งเป็นวันสั่งพักงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันสั่งพักงานถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2527 จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2528 จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้การเลิกจ้างมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งพักงาน ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยมีคำสั่งพักงานก็เพื่อจะทำการสอบสวนโจทก์เรื่องกระทำความผิดอาญาต่อจำเลย แม้จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ก็ตาม สภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยยังคงมีอยู่จนกว่าจะมีคำสั่งเลิกจ้าง ดังนั้นการที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างและเมื่อจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1โดยให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปเท่ากับจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันสุ้นสุดลง ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนการเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยตามบทกฎหมายอื่นนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ดังที่ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานให้แก่โจทก์แล้วการเลิกจ้างของจำเลยจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลยอีกต่อไปนับแต่วันเลิกจ้างนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.