แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กลับมาฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนว่า เงินฝากในบัญชีไม่ใช่เงินได้ของโจทก์ แต่เป็นเงินที่บริษัท ด. จ่ายเป็นค่าสินบนให้แก่พนักงานของรัฐ บริษัท ด. เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีไปให้นักการเมืองได้โดยตรง จึงทำสัญญาจ้างบริษัท ย. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการเพื่ออำพรางการจ่ายเงินดังกล่าวและโจทก์ยอมนำเงินตามเช็คของบริษัท ย. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่บริษัท ด. จ่ายให้เข้าบัญชีเงินฝากของตนโดยได้รับค่าตอบแทน เพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2549 (ครึ่งปี) และแก้ไขคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่มีคำวินิจฉัยตามหนังสือดังกล่าว โดยให้ถือว่าเงินได้ 68,200,000 บาท ไม่เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2549 (ครึ่งปี) และประจำปีภาษี 2549 แก่โจทก์ กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2549 (ครึ่งปี) โจทก์ไม่นำเงินได้ค่าสอบบัญชีตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 729,000 บาท และเงินได้อื่นตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 68,580,000 บาท มารวมเป็นเงินได้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้การยื่นแบบไม่ถูกต้อง และประเมินภาษีเพิ่มเติม รวมทั้งคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 67,967,296.11 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 โจทก์ไม่นำเงินได้ค่าตอบแทนตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 2,390,000 บาท เงินได้ค่าสอบบัญชีตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 1,497,500 บาท และเงินได้อื่นตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 77,838,700 บาท มารวมเป็นเงินได้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้การยื่นแบบไม่ถูกต้อง และประเมินภาษีเพิ่มเติม รวมทั้งคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 11,672,899.76 บาท โดยให้ไปชำระภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ซึ่งในวันที่ 5 สิงหาคม 2553 โจทก์ได้ไปรับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวแล้ว วันที่ 16 สิงหาคม 2553 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยให้โจทก์ชำระภาษีดังกล่าว และเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 จนถึงวันที่ชำระภาษี และโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยให้ถือว่าเงินได้ 68,200,000 บาท ไม่เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ ดังนั้น เงินได้พึงประเมินจำนวน 9,258,700 บาท จึงเป็นอันยุติ
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเงินได้ 68,200,000 บาท ไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงในส่วนนี้ตรงกับทางนำสืบของโจทก์ว่า เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์จำนวน 68,580,000 บาท ไม่ใช่เงินได้ของโจทก์ แต่เป็นเงินที่บริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับงานก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรจากการเคหะแห่งชาติในโครงการเมืองใหม่บางพลีและโครงการร่มเกล้า 2 ที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่รัฐมนตรีที่มีอำนาจในขณะนั้นกับพวกผู้ที่ให้งานดังกล่าวตามที่ตกลงกัน แต่เนื่องจากบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินออกจากบัญชีนำไปให้รัฐมนตรีกับพวกดังกล่าวได้โดยตรง จึงได้คิดวิธีการอำพรางการจ่ายเงินดังกล่าวโดยมีการว่าจ้างบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการให้เป็นที่ปรึกษาและประสานงานโครงการ เป็นเงินค่าจ้าง 101,000,000 บาท ซึ่งความจริงไม่มีการว่าจ้างกัน แต่ในวันที่ 27 และ 28 มิถุนายน 2549 มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คของบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) รวม 2 ฉบับ เข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาเพลินจิต ของบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด รวมจำนวน 105,040,000 บาท และในวันที่ 28 มิถุนายน 2549 โจทก์นำเช็คของบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายพร้อมประทับตราของบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 2 ฉบับ รวมจำนวน 68,580,000 บาท เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรสาคร ของโจทก์ จากนั้นโจทก์ได้ถอนเงินจำนวน 68,200,000 บาท ออกจากบัญชีดังกล่าวแล้วให้ธนาคารออกตั๋วแลกเงินและแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินคืนให้แก่บริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจากการเปิดบัญชีเงินฝากและยินยอมให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพียง 380,000 บาท จากข้ออ้างดังกล่าว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์สืบเนื่องมาจากโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด ในขณะนั้นเข้าร่วมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่ออำพรางการจ่ายเงินของบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งโจทก์ได้เบิกความยอมรับว่า บริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินออกจากบัญชีนำไปให้นักการเมืองได้โดยตรง เพราะว่าเป็นการให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของรัฐซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีอาชีพเป็นผู้สอบบัญชีทราบดีมาตั้งแต่ต้นว่าการกระทำดังกล่าวส่อไปในทางที่ไม่สุจริต แต่โจทก์ก็ยังยอมลงลายมือชื่อเข้าทำสัญญาในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่ปรากฏว่าถูกบังคับข่มขู่แต่อย่างใด ทั้งยังยอมนำเงินตามเช็คของบริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 2 ฉบับ รวมจำนวน 68,580,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่บริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จ่ายให้แก่บริษัทยีเย้า (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรสาคร ของโจทก์ โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทน 380,000 บาท การกระทำตามข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นการที่โจทก์เข้าสมรู้ร่วมคิดและร่วมมือเพื่ออำพรางการจ่ายเงินให้แก่เจ้าพนักงานและทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทน ซึ่งการกระทำตามข้ออ้างดังกล่าวย่อมส่งผลให้รัฐเสียหาย และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทุจริตในวงราชการ กรณีจึงไม่สมควรที่จะให้โจทก์นำข้ออ้างจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนมาฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ที่จะไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรตามการประเมิน ดังนั้น การที่โจทก์ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินจำนวนดังกล่าวแต่กลับมาฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม) ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วไม่จำต้องวินิจฉัยคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ