แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ครูโรงเรียนราษฎร์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่านายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย มิใช่กรณีพิพาทในเรื่องกำหนดหรือแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องบังคับ ตาม พระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่เป็นเรื่อง ที่ต้อง ดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และไม่มีข้อบังคับให้นำ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ มาใช้ พนักงานตรวจแรงงาน มีอำนาจ ออกคำเตือนให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยได้ ตามข้อ 77 แห่ง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ไม่เป็น การโต้แย้ง สิทธิของนายจ้าง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีฟังได้ตามฟ้องและคำให้การว่า โจทก์เลิกจ้างนายทรงศักดิ์ เต็งรัตนประเสริฐ กับพวกรวม 5 คนซึ่งทำหน้าที่เป็นครูโรงเรียนราษฎร์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย บุคคลเหล่านั้นยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และไม่จ่ายค่าชดเชยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาออกคำสั่งโดยการสอบถามข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างบุคคลเหล่านั้นโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 มีคำเตือนที่ 1/2520 ลงวันที่ 21 เมษายน 2520 เตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเหล่านั้นการพิจารณาคำร้องนั้นมิได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มีปัญหาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 ว่าคำเตือนของจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่
โจทก์ฎีกาว่าคำเตือนของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบ เพราะที่ถูกนั้นโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และจำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องโดยมิให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และมิได้นำพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์และระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัตินั้นตลอดจนระเบียบคุรุสภามาประกอบการพิจารณา พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่นายทรงศักดิ์เต็งรัตนประเสริฐ กับพวกยื่นคำร้องว่าโจทก์เลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการไม่ชอบนั้น มิใช่เป็นกรณีพิพาทกันในเรื่องกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องดำเนินการพิจารณาคำร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และไม่มีข้อบังคับใดให้ต้องนำพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัตินั้น และระเบียบคุรุสภามาประกอบการพิจารณา การพิจารณาคำร้องจึงเป็นการชอบ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ถูกโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจออกคำเตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยได้ตามความในข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์”
พิพากษายืน