คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8836/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหลายกรรม แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 339 ไว้ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ และแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งซึ่งมีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339 และสั่งให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 25,199 บาท แก่ทายาทหรือกองมรดกของผู้ตายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคห้า ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกประกอบมาตรา 52 (2)) ให้จำคุกตลอดชีวิต ให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 25,199 บาท แก่ทายาทหรือกองมรดกของผู้ตายด้วย คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 334 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นและฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ มาตรา 339 จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อสืบพยานโจทก์ประกอบรับสารภาพแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 โดยมิได้วินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้ว ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้ถูกต้องได้ จำเลยไม่ฎีกา ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องข้อหาชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยให้การรับสารภาพทั้งชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาด้วยความสมัครใจ แสดงว่าจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้ตายในขณะที่จำเลยลงมือฆ่าผู้ตาย ข้อที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนโกรธแค้นผู้ตายนั้น จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างลอย ๆ เพื่อให้ผู้อื่นเห็นใจและได้รับโทษน้อยลง ในข้อนี้ได้ความว่าขณะเกิดเหตุคงมีเพียงจำเลยกับผู้ตายอยู่ด้วยกันในโกดังที่เกิดเหตุ จึงไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็น โจทก์คงมีเพียงพยานแวดล้อมโดยมีนางสาวศิริพร ลูกจ้างของผู้ตายมาเบิกความว่า เมื่อผู้ตายและจำเลยเข้าไปในโกดังเก็บสินค้าแล้ว ผู้ตายไม่กลับบ้านพักอีกเลยจนกระทั่งพบศพผู้ตายและได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของนางสาวจินดารัตน์ ซึ่งมีบ้านพักอยู่ติดกับโกดังเก็บสินค้าของผู้ตายว่า ในวันเกิดเหตุเห็นผู้ตายและจำเลยอยู่ที่บริเวณโกดังเก็บสินค้า หลังจากนั้นโกดังเก็บสินค้าปิดล๊อกไว้ตลอดจนกระทั่งพบศพผู้ตาย ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.11 และโจทก์คงมีพยานสำคัญ คือ คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.17 เห็นว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพแต่ก็มีรายละเอียดว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายสั่งให้จำเลยขึ้นไปจัดเรียงกระเป๋าพลาสติกบนชั้นที่ 2 ของโกดังเก็บสินค้า จำเลยทำตามคำสั่งจนเกือบเสร็จแล้ว แต่ผู้ตายไม่พอใจและสั่งให้จำเลยจัดเรียงใหม่ จำเลยบอกว่าเหนื่อยและปวดท้อง ผู้ตายพูดด่าว่าจำเลย จำเลยโกรธจึงหยิบท่อนไม้รุมตีผู้ตาย ดังนี้ กรณีต้องฟังเนื้อหาของคำให้การทั้งหมด มิใช่รับฟังเฉพาะคำรับสารภาพแล้วแปลความหมายว่า จำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ดังที่โจทก์ฎีกา ทั้งคำให้การดังกล่าวมีรายละเอียดของข้อเท็จจริงในทำนองว่าจำเลยฆ่าผู้ตายเพราะโกรธ จึงมิใช่การกล่าวอ้างลอย ๆ อย่างที่โจทก์ฎีกา เชื่อว่าเหตุที่จำเลยฆ่าผู้ตายเนื่องจากโกรธที่ผู้ตายด่าจำเลย มิได้เกิดจากความประสงค์ต่อทรัพย์มาก่อนดังที่โจทก์ฎีกา การลักทรัพย์เป็นการกระทำโดยเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง อันเป็นคนละกรรมกับการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งขาดตอนไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหลายกรรมจึงลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ไม่ได้เพราะเกินคำขอนั้น โจทก์ฎีกาว่า ศาลต้องลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์เพราะโจทก์บรรยายฟ้องถึงความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานชิงทรัพย์ไว้แล้ว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกิดคำฟ้อง นั้น เห็นว่าแม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหลายกรรม แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ไว้ ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ และแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งซึ่งมีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาส่วนนี้มา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แต่มิได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ เห็นควรพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 334 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมโทษฐานฆ่าผู้อื่นที่ให้จำคุก 25 ปีแล้ว เป็นจำคุกจำเลย 26 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share