คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8833/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากศาลชี้สองสถานแล้วตามคำให้การเดิมจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ส่วนคำให้การที่จำเลยจะขอแก้ไขใหม่จำเลยก็อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ซึ่งแสดงว่า จำเลยรู้ตั้งแต่เวลาที่ยื่นคำให้การเดิมแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ ไม่ใช่จำเลยเพิ่งรู้ในวันที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยดูแผนที่วิวาทซึ่งเป็นวันเดียวกับวันชี้สองสถาน จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามคำร้องของจำเลย จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยปัญหานี้ให้ ก็เป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือหาประโยชน์ใด ๆ ในที่ดินบริเวณที่พิพาททางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 22712 ของโจทก์ตามที่ปรากฏในรูปแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้อง และให้จำเลยยอมรับแนวเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ว่าถูกต้องตามที่เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและพิพากษาว่าที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ที่จำเลยนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้ามาจำนวนเนื้อที่ 3 ตารางวา เป็นที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยก็ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาภายหลังการชี้สองสถานแล้ว จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 15สิงหาคม 2540 ขอแก้ไขคำให้การและขอถือคำให้การเป็นคำฟ้องแย้งและขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โดยจำเลยจะขอให้การใหม่ว่า โจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินจำเลย ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยให้โจทก์กับเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดออกโฉนดใหม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าสมควรให้จำเลยแก้ไขคำให้การหรือไม่และต้องหมายเรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งวันที่ 15 สิงหาคม 2540 เป็นระยะเวลาหลังจากศาลชี้สองสถานแล้ว ทั้งตามคำให้การเดิมจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ส่วนคำให้การที่จำเลยจะขอแก้ไขใหม่ก็อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยรู้ตั้งแต่เวลาที่ยื่นคำให้การเดิมแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ ไม่ใช่เพิ่งรู้ในวันที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยดูแผนที่วิวาทซึ่งเป็นวันเดียวกับวันชี้สองสถาน จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้แก้ไขคำให้การ

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้หมายเรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามคำร้องของจำเลยจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยปัญหานี้ให้ ก็เป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

พิพากษายืน

Share