คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ และที่มาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับในหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า “วันโฆษณา”ตามมาตรา 91 นั้น หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา แต่ราชกิจจานุเบกษาพิมพ์เสร็จและนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน อันเป็นวันโฆษณา คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามความหมายในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 หาใช่วันที่ในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นการลงล่วงหน้าไม่ เพราะวันดังกล่าวยังไม่มีการพิมพ์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2532 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องได้ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 เรียกเงิน 608,965.47 บาท ฐานผิดสัญญาซื้อขาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีนี้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ผู้ร้องจึงถอนฟ้องและยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องโดยอ้างว่า ไม่ได้ยื่นภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ปรากฏว่า ได้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532 และในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106ตอนที่ 210 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 แต่ได้นำออกเผยแพร่สำหรับสมาชิกที่มารับเองเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532 ผู้ร้องซึ่งเป็นสมาชิกประเภทมารับเอง ได้รับราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2533 และทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันนั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์2533 จึงยังอยู่ในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง ขอให้สั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเพื่อดำเนินการต่อไป
โจทก์คัดค้านว่า ราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวได้นำออกเผยแพร่สำหรับสมาชิกที่มารับเองตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2532 แต่ผู้ร้องไปรับในวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งถ้าหากผู้ร้องไปรับราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันเริ่มเผยแพร่ ก็ยังมีเวลาในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ถึงหนึ่งเดือนเศษและผู้ร้องได้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นความบกพร่องของผู้ร้องเอง ขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ร้องต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในวันที่ 29 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดระยะเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหลังสุด ไม่ใช่นับแต่วันเผยแพร่หนังสือราชกิจจานุเบกษาตามที่ผู้ร้องอ้าง ทั้งได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532 แล้วด้วย ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่า ไม่อาจทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนวันที่ 27 ธันวาคม 2532 อันเป็นวันเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาจึงฟังไม่ขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองรับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องแล้วดำเนินการต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด เมื่อวันที่13 ตุลาคม 2532 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับลงวันที่10 พฤศจิกายน 2532 และในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 106 ตอนที่ 210ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 พร้อมทั้งแจ้งให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันประกาศโฆษณาดังกล่าว แต่ราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวได้ตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532และสำนักงานราชกิจจานุเบกษาได้นำราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวออกเผยแพร่ให้กับสมาชิกประเภทมารับเองในวันที่ 27 ธันวาคม 2532ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดหรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับที่มาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับในหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับแต่วันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า”วันโฆษณา” ตามมาตรา 91 นั้น หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน แม้คดีนี้จะมีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยาม ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532แต่ก็มีการโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 106 ตอนที่ 210ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา แต่ราชกิจจานุเบกษาตอนนี้เพิ่งพิมพ์เสร็จและได้นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532 วันที่ 27ธันวาคม 2532 จึงเป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชนอันเป็นวันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามความหมายในมาตรา 91หาใช่วันที่ในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นการลงล่วงหน้าไม่ เพราะวันดังกล่าวยังไม่มีการพิมพ์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 จึงยังไม่เกินกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 91 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share