คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานและรายชื่อผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาได้กระทำขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกของสหภาพแรงงานแล้ว ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาดังกล่าวย่อมมีอำนาจบริบูรณ์ในการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับนายจ้างได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่นั้นอีก มติของที่ประชุมใหญ่เช่นนี้ย่อมมีผลเป็นการอนุมัติให้สหภาพแรงงานรับข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นได้ด้วย ดังนั้น เมื่อต่อมาผู้แทนลูกจ้างได้เจรจาตกลงกับนายจ้าง และมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันขึ้น กรณีย่อมถือได้ว่าผู้แทนลูกจ้างได้กระทำภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่นั้นแล้วหาจำเป็นจะต้องได้รับอนุมัติเป็นการเฉพาะอีกไม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจา ต่อมาผู้แทนของจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนรวมโดยไม่ผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532จึงเป็นโมฆะนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของจำเลยที่ 2ไม่ได้ ขอให้พิพากษาว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่16 พฤศจิกายน 2532 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปจดทะเบียนยกเลิก หรือเพิกถอนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับดังกล่าว ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขณะนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับดังกล่าว ได้กระทำโดยเปิดเผยถูกขั้นตอนตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทักท้วงในช่วงการเจรจาข้อเรียกร้อง หรือการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นในทันที ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่16 พฤศจิกายน 2532 ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าหนังสือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 เป็นโมฆะให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนเสียหากจำเลยทั้งสองไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้อย่างไร และข้อตกลงฉบับลงวันที่ 16พฤศจิกายน 2532 มีข้อใดกระทบส่วนได้เสียของโจทก์ทั้งสอง ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกข้อต่อสู้ขึ้นอ้างได้ คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ร่วมกันทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมโดยไม่ผ่านมติที่ประชุมใหญ่ ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนข้อตกลงดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 ตามเอกสารหมาย จ.5 ได้กระทำขึ้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อกัน และได้เจรจาข้อเรียกร้องซึ่งกันและกันภายใน 3 วัน โดยจำเลยที่ 2ได้แต่งตั้งผู้แทนเข้าเจรจาตามเอกสารหมาย ล.8 โดยผ่านการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตามขั้นตอนของกฎหมาย พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นำข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายมารวมเจรจากันมีการประชุมเจรจา การไกล่เกลี่ย การปิดงาน และนัดหยุดงาน โดยถูกต้องและเปิดเผย จนสามารถตกลงกันได้ และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 ขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองและสมาชิกทุกคนของจำเลยที่ 2 ได้รู้เห็นเป็นใจและตกลงโดยปริยายให้จำเลยที่ 2 ตั้งตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2532เพื่อขอมตินัดหยุดงาน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงยอมรับโดยปริยายว่าตัวแทนของจำเลยที่ 2 มีอำนาจในการเจรจา ในการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นำเอาข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1ที่ 2 มารวมเข้าด้วยกัน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 เกิดจากผลการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานในระหว่างนัดหยุดงาน ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้มีการแจ้งให้สมาชิกทราบเป็นระยะ ๆ มีการปิดประกาศให้สมาชิกทราบ จำเลยที่ 2 ได้มีการประชุมก่อนมีการตกลงตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103 และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมใช้บังคับอยู่ตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 จำเลยที่ 2 เป็นสหภาพแรงงานมีข้อบังคับใช้บังคับอยู่ตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532จำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานตัวแทนของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อเรียกร้องเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 29 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 2 ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.3 ในการแจ้งข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2532 วาระการประชุมที่ 4 ข้อ 2 แล้วตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้แต่งตั้งผู้แทนในการเจรจาเข้าเจรจากันแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เข้าไกล่เกลี่ยตามขั้นตอนแล้วก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จนมีการปิดงานและนัดหยุดงานกันขึ้น ในที่สุดผู้แทนในการเจรจาของทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้และได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นตามเอกสารหมาย จ.5 พิเคราะห์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 แล้วเห็นว่า เป็นข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เรื่องเงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดเงินโบนัสและสวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การทำข้อตกลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมตามปกติจำเลยที่ 2 จะกระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2) และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 19.9 แต่ขณะที่จำเลยที่ 2 ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากมติของที่ประชุมใหญ่ คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา103(2) และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 19.9หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532 ตามเอกสารหมาย จ.2 วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.3 ตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นฝ่ายผู้รับข้อเรียกร้องจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา 7 คนคือ นายวิวัฒน์ ไฝ่ต๊ะ นายสวัสดิ์ มีศิริ นายทวีศักดิ์สีหบุตร นายอำพร สุพกรรม นายชาลี ลอยสูง นายสมัย ขุ่มด้วงและนายประมวย วรรณสัมผัส ตามเอกสารหมาย ล.8 เมื่อจำเลยที่ 2แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ได้แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาเหมือนกันตามเอกสารหมาย จ.3 ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้องทั้งสองรายของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้แทนชุดเดียวกัน ส่วนข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2พร้อมรายชื่อผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาตามเอกสารหมาย จ.3 นั้นจำเลยที่ 2 ได้กระทำขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2532 วาระการประชุมที่ 4 ข้อ 2 ตามเอกสารหมาย จ.1 ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาของจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจบริบูรณ์ในการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 ได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่อีก นอกจากนี้มติของที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 2ที่อนุมัติให้จำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้องนั้นย่อมมีผลเป็นการอนุมัติให้จำเลยที่ 2 รับข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นได้ด้วย ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1ที่ 2 นั้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานก็ได้นำเอาข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายมารวมเจรจาเข้าด้วยกัน ดังปรากฏตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 ในข้อความตอนต้นว่า “ตามหนังสือเรียกร้องของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ลงวันที่ 28 กันยายน 2532 และหนังสือเรียกร้องของสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย ลงวันที่ 29 กันยายน2532 นั้น บริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด และสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย ได้ทำการเจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนี้”ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จึงได้กระทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 ถือได้ว่าผู้แทนของสหภาพแรงงานจำเลยที่ 2 ได้กระทำภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว หาจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติเป็นการเฉพาะอีกไม่ เพราะเป็นกิจการส่วนหนึ่งของการแจ้งข้อเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ล่วงหน้าแล้วข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จึงมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 103(2) และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ19.9 แต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share