คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายของกระสุนปืน เอ็ม .16 ซึ่งผลิตโดยโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ตามสัญญาเรื่องการจัดการแก้ไขในกรณีที่ซองกระสุนปืนดังกล่าวไม่ถูกต้องจะมิได้ระบุให้ส่งไปให้ผู้ผลิตทำการแก้ไขก็ตาม แต่การแก้ไขชิ้นส่วนของซองกระสุนปืนเอ็ม .16 อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งใช้ในราชการสงคราม จึงพึงเป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่จะจัดการแก้ไขซ่อมแซมได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ดังนี้การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้โรงงานผู้ผลิตรับเอาซองกระสุนปืนไปแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยนับแต่วันครบกำหนดส่งของตามสัญญาถึงวันครบกำหนดที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามสัญญา
เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับแล้วและจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อของในราคาที่แพงกว่าราคาเดิม โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าเสียหายดังกล่าวอีกไม่ได้ เพราะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง
ตามสัญญากำหนดให้ธนาคารวางหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจะคืนให้แก่ผู้ค้ำประกันเมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ดังนี้ถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญา เมื่อโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้ว จึงต้องคืนหลักประกันดังกล่าวให้จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๐ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายซองกระสุน ปลก.๐๘ (เอ็ม.๑๖) เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาตามตัวอย่างที่จำเลยที่ ๑ เสนอราคาและรายละเอียดเพื่อขายให้แก่โจทก์จำนวน ๑๑,๗๐๐ ซอง ราคาซองละ๖๖ บาท รวมเป็นเงิน ๗๗๒,๒๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ จะต้องส่งซองกระสุนตามสัญญาแก่โจทก์ภายใน ๑๒๐ วัน หรือภายในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๒๑จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่สามารถส่งของตามสัญญาแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ ส่งมอบซองกระสุนจำนวน๗,๖๐๐ ซองให้โจทก์ คงขาดอยู่ ๔,๑๐๐ ซอง ต่อมาวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ จึงส่งมอบอีก ๔,๑๐๐ ซอง แต่โจทก์ทดลองตรวจสอบแล้วปรากฏว่ายิงแล้วติดขัด เพราะแหนบส่งกระสุนโตกว่าตัวอย่างตามสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๒๓โจทก์ซื้อซองกระสุนจากบริษัทชัยเสรีอิมปอร์ต จำกัด ในราคาซองละ ๙๑.๕๐ บาท ได้เพียง ๒,๙๕๗ ซอง การที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ต้องจัดซื้อจากบุคคลอื่น ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นค่าปรับตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๖พฤษภาคม ๒๕๒๓ เป็นเวลา ๘๓๑ วัน ในอัตราร้อยละ ๐.๒ ของราคาของที่ส่งมอบเกินกำหนดเวลา เป็นเงิน ๔๔๙,๗๓๗.๒๐ บาท กับค่าปรับที่ส่งซองกระสุน ๗,๖๐๐ ซอง ล่าช้าอีก ๑๘ วันเป็นเงิน ๑๘,๐๕๗.๖๐ บาท และโจทก์ต้องซื้อของแพงขึ้นอีกเป็นเงิน ๑๐๔,๕๕๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๗๒,๓๔๔.๘๐ บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายเป็นค่าซองกระสุนส่วนที่จำเลยส่งมอบถูกต้องตามสัญญาแล้วจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ ๗๐,๗๔๔.๘๐บาท จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ ๑ ฟ้องแย้งว่า วันที่ ๑๒กรกฎาคม ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๑ ขอรับซองกระสุนคืนมาแก้ไขให้ถูกต้องแต่โจทก์ไม่ยอมให้อ้างว่าเป็นยุทธภัณฑ์ในราชการสงคราม ประชาชนจะมีไว้ในครอบครองไม่ได้ทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถรับซองกระสุนคืนมาจัดการแก้ไขข้อบกพร่องได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ ๑ การที่โจทก์ถ่วงเวลาบอกเลิกสัญญาไว้ถึง ๑ ปีหลังจากส่งมอบซองกระสุนที่โจทก์อ้างว่า คุณภาพไม่ตรงตามสัญญา เป็นการที่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่อันควรตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายแล้ว โจทก์กระทำเพื่อให้จำเลยเสียค่าปรับมากขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและต้องคืนเงินค่าค้ำประกัน ๑๓,๕๓๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑ จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระค่าซองกระสุนเป็นเงิน๗๗๒,๒๐๐ บาท และคืนค่าค้ำประกัน ๑๓,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ นำซองกระสุนไปแก้ไขโดยมุ่งหมายให้จำเลยที่ ๑ ส่งไปแก้ไขยังโรงงานต่างประเทศ โดยจำเลยที่ ๑ ติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศให้รับจากโจทก์โดยตรง โจทก์ไม่อาจมอบให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ โจทก์มิได้ถ่วงเวลาเพื่อคิดค่าปรับจากจำเลยที่ ๑ มากขึ้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน๗,๔๗๗.๖๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ใช้เงิน ๙๗,๐๗๒.๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยส่งมอบซองกระสุนที่ถูกต้องตามสัญญาจำนวน ๗,๖๐๐ ซอง ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ จึงล่วงเลยกำหนดเวลา ๑๗ วัน จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในกรณีไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรได้ สำหรับกรณีที่จำเลยส่งมอบซองกระสุนจำนวน ๔,๑๐๐ ซองไม่ถูกต้องตามตัวอย่าง ได้ความว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โดยรับเอาซองกระสุนดังกล่าวไปทำการแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยขอรับคืนไปเพื่อแก้ไขเอง โจทก์ไม่ยอมเพราะเป็นยุทธภัณฑ์จะต้องส่งออกไปให้ผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นผู้แก้ไขพิเคราะห์สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.๓ แล้ว แม้จะได้ระบุเรื่องการจัดการแก้ไขไว้โดยมิได้ระบุให้ส่งไปให้ผู้ผลิตทำการแก้ไขก็ตาม แต่การแก้ไขชิ้นส่วนของซองกระสุนปืน ปลก.๐๘ (เอ็ม.๑๖) อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งใช้ในราชการสงครามจึงพึงเป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่จะจัดการแก้ไขซ่อมแซมได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซองกระสุนปืนดังกล่าว โรงงานแอ็ดเวนเจอร์ไลน์ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตการแก้ไขก็ต้องให้โรงงานผู้ผลิต เป็นผู้จัดการแก้ไข ดังนั้นการที่จำเลยจะรับไปจัดการแก้ไขเอง โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยไม่จำต้องส่งไปให้โรงงานผู้ผลิตทำการแก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบและเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงหาอาจอ้างเอาเหตุนี้มาเป็นข้อต่อสู้ว่า จำเลยไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาได้ไม่ เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้โรงงานผู้ผลิตรับเอาซองกระสุนไปแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด สำหรับกรณีที่จำเลยส่งมอบซองกระสุนจำนวน ๗,๖๐๐ ซอง ล่าช้ากว่ากำหนดตามสัญญา ๑๗ วัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามสัญญาข้อ ๙ ได้กำหนดค่าปรับในกรณีที่ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ไว้ในอัตราวันละ ๐.๒เปอร์เซ็นต์ของราคาสิ่งของที่ส่งมอบ ซองกระสุนที่ส่งมอบจำนวน๗,๖๐๐ ซอง ราคาซองละ ๖๖ บาท เป็นเงิน ๕๐๑,๖๐๐ บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าปรับในส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน ๑๗,๐๕๔.๔๐ บาท ส่วนค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบซองกระสุนจำนวน๔,๑๐๐ ซอง ให้ถูกต้องตามตัวอย่างนั้น หลังจากที่โจทก์แจ้งให้จำเลยรับเอาซองกระสุนดังกล่าวไปแก้ไขแล้ว จำเลยก็เพิกเฉยไม่แจ้งให้โรงงานผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริการับไปดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วนำมาส่งมอบแก่ โจทก์จนกระทั่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และให้นำซองกระสุนที่ถูกต้องส่งมอบแก่โจทก์ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๗ และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๓ ครบกำหนดที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยปฏิบัติตามสัญญาในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย นับแต่วันครบกำหนดส่งตามสัญญาคือวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ เป็นเวลา๗๕๙ วันคิดเป็นเงินค่าปรับในกรณีที่จำเลยไม่ส่งมอบซองกระสุนดังกล่วเป็นเงิน ๔๑๐,๗๗๐.๘๐ บาท ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท จึงชอบแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๓๘๐ บัญญัติถึงเบี้ยปรับในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาโดยเรียกเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย ดังนั้น เบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับดังกล่าวแล้วและจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อซองกระสุนในราคาที่แพงกว่าราคาเดิม โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องซื้อซองกระสุนแพงขึ้นจากราคาเดิมอีกไม่ได้เพราะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๐ วรรคสอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้อีก สัญญาข้อ ๗ กำหนดให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด วางหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจะคืนให้แก่ผู้ค้ำประกันเมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ดังนั้นจึงถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้า เพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญา เมื่อโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้ว จึงต้องคืนหลักประกันดังกล่าวให้จำเลย โดยนำไปคิดหักกลบลบกับค่าเสียหายที่จำเลยพึงชดใช้ให้แก่โจทก์
สรุปแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๔๑๗,๐๕๔.๔๐ บาท เมื่อหักกลบลบกันกับราคาซองกระสุนที่ถูกต้องตามตัวอย่างและโจทก์รับไว้ต้องชำระราคาแก่จำเลยจำนวน ๗,๖๐๐ ซอง เป็นเงิน ๕๐๑,๖๐๐ บาท รวมกับเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่โจทก์ต้องคืนแก่จำเลยจำนวน ๑๓,๕๓๐ บาท แล้วโจทก์จะต้องชำระราคาแก่จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๙๘,๐๗๕.๖๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน ๙๘,๐๗๕.๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share