คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนที่จะมีการยึดที่ดินพิพาท โจทก์ขอตรวจสอบการถือครองที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินพบว่าจำเลยถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1267 จึงคัดถ่ายเอกสารให้ผู้แทนโจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์ขอตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิอีกครั้ง โดยคัดถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ดังกล่าวพร้อมราคาประเมินที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินก็ดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินพิพาท แต่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าที่ดินพิพาทมีการออกเป็นโฉนดที่ดินและจำเลยโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกก่อนจะมีการยึดแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 153 บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของเจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีบรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ วรรคสองบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระ และตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แม้ความผิดพลาดในการยึดที่ดินพิพาทไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้แทนโจทก์ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลใช้ดุลพินิจยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึดได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปเรียกร้องจากผู้เป็นต้นเหตุเอง ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 3,645,590.39 บาท แก่โจทก์ โดยจำเลยจะนำที่ดินที่จำเลยจำนองไว้ต่อโจทก์ตีใช้หนี้เป็นเงิน 1,240,000 บาท กับผ่อนชำระหนี้จนกว่าจะครบ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงขอหมายบังคับคดี ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1267 ตำบลระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อนำออกขายทอดตลาด
วันที่ 10 ตุลาคม 2556 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาระโนด ว่าที่ดินพิพาทที่ผู้แทนโจทก์นำยึดเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 20418 แล้วตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2543 แต่ยังไม่ได้หมายเหตุการออกโฉนดที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และโฉนดที่ดินดังกล่าวถูกโอนขายให้บุคคลภายนอกแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2553 วันที่ 2 ธันวาคม 2556 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนการยึดที่ดินพิพาท จึงขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึด
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า เมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์ซึ่งไม่ใช่ของจำเลยแล้วโจทก์ย่อมต้องชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 ข้อ 3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินไปแล้วไม่มีการขายได้หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าก่อนที่จะมีการยึดที่ดินพิพาท โจทก์ขอตรวจสอบการถือครองที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินพบว่าจำเลยถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1267 จึงคัดถ่ายเอกสารให้ผู้แทนโจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์ขอตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิอีกครั้ง โดยคัดถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ดังกล่าวพร้อมราคาประเมินที่ดิน
เจ้าพนักงานที่ดินก็ดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินพิพาท แต่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าที่ดินพิพาทมีการออกเป็นโฉนดที่ดินและจำเลยโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกก่อนจะมีการยึดแล้ว โจทก์กระทำการโดยสุจริต จึงไม่ควรเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ ในปัญหานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 153 บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของเจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดี บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ วรรคสองบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระ และตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด เห็นว่า แม้ความผิดพลาดในการยึดที่ดินพิพาทไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้แทนโจทก์ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลใช้ดุลพินิจยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึดได้เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปเรียกร้องจากผู้เป็นต้นเหตุเอง ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share