คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง 2 ชุด ชุดแรกยิง3 นัดติด ๆ กันกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 นัดผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปประคองผู้เสียหายที่ 1 จำเลยยิงผู้เสียหายที่ 2 ในชุดหลังอีก 3 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 เพียง 1 นัด แสดงว่าการยิงปืนแต่ละชุดความประสงค์และจุดมุ่งหมายของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าการยิงชุดใดจำเลยยิงผู้เสียหายคนใดเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองในขณะลงมือกระทำความผิดจึงแยกออกจากกันได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 กระทงหนึ่ง จำคุก 2 ปีมาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ กระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ต่อผู้เสียหายที่ 1 กระทงหนึ่ง และต่อผู้เสียหายที่ 2อีกกระทงหนึ่ง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 3 ปี12 เดือน จำเลยนำสืบรับในข้อหามีและพาอาวุธปืนและข้อเท็จจริงในพฤติการณ์เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 4คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 เรียงกระทงลงโทษฐานพยายามฆ่าจำคุกกระทงละ 10 ปี 2 กระทง รวม 20 ปี จำเลยนำสืบรับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยในข้อหานี้ไว้ 13 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้วจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 15 ปี 7 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาสุดท้ายมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน จากพยานโจทก์จำเลยดังวินิจฉัยมาข้างต้นเห็นว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง2 ชุด ชุดแรกยิง 3 นัดติด ๆ กัน กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 จำนวน1 นัด ผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปประคองผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงยิงผู้เสียหายที่ 2 ในชุดหลังอีก 3 นัดกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 เพียง 1 นัด แสดงว่าการยิงปืนแต่ละชุดความประสงค์และจุดมุ่งหมายของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าการยิงชุดใดจำเลยยิงผู้เสียหายคนใด เจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองในขณะลงมือกระทำความผิดจึงแยกออกจากกันได้การกระทำของจำเลยจึงมิใช่กรรมเดียวแต่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share