คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 88/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 177,561.50 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 93,600 บาท แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 34,028 บาท แก่โจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้ชำระเงินตามฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท ที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 93,600 บาท แก่โจทก์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยมาพิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพียง 34,028 บาท เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นฎีกาในข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามฎีกา
จำเลยยื่นอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว เท่ากับไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ขอให้หักจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ลดลงจาก 93,600 บาท หรือยกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการขอนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 จำเลยจะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 34,028 บาท ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2523 จำเลยขอใช้ไฟฟ้าเพื่อติดตั้งที่บ้านเลขที่ 218 หมู่ที่ 7 ถนนสวนผัก แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชั้น กรุงเทพมหานคร โจทก์อนุมัติและติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (มิเตอร์ไฟฟ้า) ไว้ที่บ้านดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2542 โจทก์ตรวจสอบพบว่ามิเตอร์ไฟฟ้าเสียไม่หมุน เมื่อตรวจสอบรายการการใช้ไฟฟ้าของจำเลยย้อนหลังพบว่ามิเตอร์ไฟฟ้าแสดงหน่วยน้อยลงผิดปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 เป็นต้นมา โจทก์จึงคิดคำนวณค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนดังกล่าวจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้จำเลยใหม่ โดยถือเอาค่าไฟฟ้าตามปกติ 3 เดือนสุดท้าย คือในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2540 มาเป็นเกณฑ์เฉลี่ยในการคิดค่าไฟฟ้าที่โจทก์คิดผิดพลาดไปในแต่ละเดือน โดยคิดเฉลี่ยได้เดือนละ 2,339 หน่วย คำนวณเป็นค่าไฟฟ้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิน 182,620.50 บาท เมื่อนำค่าไฟฟ้าที่จำเลยชำระในช่วงดังกล่าวจำนวน 11,074.50 บาท มาหักออกแล้ว คงเหลือค่าไฟฟ้าที่โจทก์คิดผิดพลาดไปเนื่องจากมิเตอร์ไฟฟ้าเสียดังนี้ ขอคิดเป็นเงิน 168,032 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 168,032 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้น ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ไม่เคยติดค้างชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ ตามระยะเวลาที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้นเป็นช่วงที่จำเลยหยุดกิจการห้องอาหารทำให้อัตรารายการใช้ไฟฟ้าของจำเลยลดลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 93,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 34,028 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ กำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 บัญญัติว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 177,561.50 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 93,600 บาท แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน 34,028 บาท แก่โจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้ชำระเงินตามฟ้อง ดังนั้นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 93,600 บาท แก่โจทก์ จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยมาพิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพียง 34,028 บาท เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นฎีกาในข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ เห็นว่า แม้จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วก็ตาม แต่จำเลยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด จึงมีผลเท่ากับจำเลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ขอให้หักจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ลดลงจาก 93,600 บาท หรือยกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการขอนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น จำเลยต้องกระทำโดยการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 จำเลยจะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 34,028 บาท ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระจำนวน 93,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าทนายความกำหนดให้ 3,000 บาท

Share