คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยดัดแปลงผนังทึบอาคารตึกแถวด้านหลังซึ่งมีเขตติดต่อกับทางเดินอันเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ตามที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างโดยเจาะทำประตูเหล็กยึดและหน้าต่างกระจกบานเกล็ดมิได้รุกล้ำเขตที่ดินข้างเคียง การกระทำของจำเลยก็ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 75 เมื่อการดัดแปลงดังกล่าวเสร็จพร้อมกับการก่อสร้างตึกแถวซึ่งอยู่ภายในกำหนดอายุเวลาของใบอนุญาต แต่ขณะนั้นพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับแล้ว กรณีก็ต้อง บังคับตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องกฎหมายมีผลบังคับย้อนหลังจำเลยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและหัวหน้าเขตโจทก์ที่สั่งให้รื้อถอนประตูหน้าต่างผนังอาคารที่พิพาทโจทก์มีอำนาจขอให้ศาลสั่งบังคับจำเลยรื้อถอนได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารตึกแถวสามชั้นเลขที่ 218 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร อันเป็นอาคารตึกแถวที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างตามหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารลงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 ซึ่งมีกำหนดอายุถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2522 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 โดยแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวผนังด้านหลังซึ่งมีเขตติดต่อกับทางเดินอันเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นผนังทึบ จำเลยได้ทำการดัดแปลงเจาะผนังอาคารตึกแถวด้านนี้ทำประตูเป็นประตูเหล็กยึด 1 ประตู และทำหน้าต่างเป็นหน้าต่างชนิดบานเกล็ดกระจกซ้อนหมุนพลิกกระดกเปิดตามแนวนอนรวม 7 ช่องหน้าต่าง จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานทำการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 65 จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาปรับจำเลย 500 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ปัญหาตามฎีกาของโจทก์คงมีว่า 1. การที่จำเลยทำการดัดแปลงเจาะผนังอาคารทำประตูและหน้าต่างตามฟ้องขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 75 หรือไม่ 2. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยได้หรือไม่และ 3. ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหรือไม่

โจทก์นำสืบว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2523 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าการก่อสร้างอาคารตึกแถวรายพิพาทมีการเจาะผนังอาคารซึ่งเป็นผนังทึบทำประตูและหน้าต่างโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง หลังจากดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนประตูหน้าต่างดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอน

จำเลยนำสืบว่า ขณะทำการก่อสร้างอาคารตึกแถวรายพิพาทช่างก่อสร้างแนะนำให้ทำประตูทางด้านข้างของตัวอาคาร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกเมื่อเกิดไฟไหม้ แต่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครว่าถ้าจะทำประตูดังกล่าวต้องขออนุญาตใหม่ จำเลยเกรงว่าสัญญาจ้างก่อสร้างจะหมดอายุลงเสียก่อนเพราะการขออนุญาตต้องใช้เวลานาน จึงใช้ช่างก่อสร้างทำประตูและหน้าต่างที่ผนังอาคารที่ว่านี้ไปโดยยังมิได้ขออนุญาต และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครแนะนำว่าอาจเพียงถูกปรับ ไม่ถึงกับถูกรื้อ จำเลยทำการก่อสร้างอาคารตึกแถวรายพิพาทเสร็จเมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2522 แต่ขณะนั้นยังมิได้ใส่กระจกบานเกล็ดหน้าต่าง ผนังอาคารตึกแถวของจำเลยอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินประมาณ 20 เซนติเมตร

ข้อแรก ปัญหาที่ว่า จำเลยทำการดัดแปลงเจาะผนังอาคารทำประตูหน้าต่างตามฟ้องขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 75 หรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การยอมรับฟังเป็นยุติได้ว่า อาคารตึกแถวสามชั้นของจำเลยเป็นอาคารที่ปลูกสร้างชิดเขตที่ดินต่างผู้ครอบครองโดยผนังด้านหลังจดทางเดินซึ่งเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ หาใช่ว่าผนังอาคารตึกแถวของจำเลยอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินประมาณ 20 เซนติเมตรตามข้อนำสืบของจำเลยดังที่จำเลยกล่าวมาในคำแก้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ โดยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวขัดแย้งกับที่จำเลยยอมรับในคำให้การจึงรับฟังไม่ได้ การอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตึกแถวรายนี้จึงอยู่ภายใต้บังคับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 75 ที่บัญญัติว่า “อาคารที่ปลูกสร้างชิดเขตที่ดินต่างผู้ครอบครองอนุญาตให้เฉพาะฝาหรือผนังทึบไม่มีประตูหน้าต่างและช่องระบายอากาศอยู่ชิดเขตได้พอดี แต่มิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารรุกล้ำเขตที่ดินข้างเคียง ตึกแถวที่มีดาดฟ้าสร้างชิดเขตให้สร้างผนังทึบด้านชิดเขตสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร ตามข้อบัญญัติดังกล่าวฝาหรือผนังของอาคารด้านชิดเขตจะต้องเป็นฝาหรือผนังทึบไม่มีประตูหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศและอยู่ชิดเขตได้พอดี แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารจะต้องไม่รุกล้ำที่ดินข้างเคียง ข้อบัญญัติที่ว่านี้บัญญัติขึ้นไว้เพื่อคุ้มครองเจ้าของที่ดินข้างเคียงดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อ 56 แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2498) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พุทธศักราช 2479 ด้วยเหตุนี้แบบแปลนอาคารตึกแถวรายนี้ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างผนังอาคารด้านหลังซึ่งมีเขตติดต่อกับทางเดินอันเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์จึงเป็นผนังทึบไม่มีประตูหน้าต่างและช่องระบายอากาศดังข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่กล่าวข้างต้นการที่จำเลยทำการดัดแปลงผนังอาคารด้านนี้โดยเจาะทำประตู 1 ประตู และทำหน้าที่ต่างรวม 7 ช่องหน้าต่าง แม้ประตูหน้าต่างเช่นว่านั้นเป็นประตูเหล็กยืดและเป็นหน้าต่างกระจกบานเกล็ดมิได้รุกล้ำเขตที่ดินข้างเคียงและกรมธนารักษ์มิได้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อกรุงเทพมหานคร การกระทำของจำเลยก็ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 75

ข้อสองปัญหาที่ว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยได้หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องขอบังคับจำเลยให้รื้อถอนและแก้ไขเปลี่ยนแปลงประตูหน้าต่างผนังอาคารด้านที่จำเลยดัดแปลงสร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและทำเป็นผนังทึบให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แม้ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตึกแถวรายพิพาทตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.1 อันเป็นใบอนุญาตที่ออกให้ก่อนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับแต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยสร้างประตูหน้าต่างตามฟ้องเสร็จพร้อมกับการก่อสร้างตึกแถวรายพิพาทเมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2522 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ใช้บังคับแล้ว โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวเริ่มใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2522 ดังนั้น แม้การก่อสร้างอาคารตึกแถวรายพิพาทของจำเลยจะอยู่ในกำหนดอายุเวลาของใบอนุญาตตามเอกสารหมาย ล.1 กรณีก็ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงไม่ใช่เป็นเรื่องกฎหมายมีผลย้อนหลังตามข้อวินิจฉัยของศาลล่าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ดัดแปลงเจาะผนังอาคารทำประตูหน้าต่างผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตให้ทำเป็นผนังทึบโดยฝ่าฝืนหรือขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จนกระทั่งจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานทำการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่สั่งให้รื้อถอนประตูหน้าต่างผนังอาคารที่พิพาทโจทก์มีอำนาจขอให้ศาลสั่งบังคับจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อฟังขึ้นคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก

พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนประตูหน้าต่างผนังอาคารเลขที่ 218 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้านติดทางเดินอันเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วให้ทำเป็นผนังทึบ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์รื้อถอนและจัดทำได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมรวมสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 2,000 บาท”

Share