คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อ. ได้ลาหยุดงาน 8 ครั้ง ในระหว่างการทดลองงานแต่มีการแจ้งด้วยวาจา แม้การลาหยุดงานและขาดงานดังกล่าวจะไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็ตาม แต่ก็รับฟังได้ตามบันทึกการมาสายว่า ในระหว่างการทดลองงาน อ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปแผนกบุคคลของโจทก์ มาทำงานสายเป็นประจำในระยะเวลา 2 เดือนเศษ โดยมาทำงานสายถึง 30 ครั้ง เช่นนี้ ถือได้ว่า อ. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้าง อ. ได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
การที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยและได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และศาลเห็นว่า จำเลยกำหนดจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ให้โจทก์จ่ายให้แก่ พ. ขาดจำนวนไป ศาลแรงงงานกลางย่อมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 กำหนดจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามจำนวนที่ถูกต้องแท้จริงให้โจทก์จ่ายให้แก่ พ. ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างนายอัมพล เสกตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปแผนกบุคคล และนายพยุหลักษณ์ แสงอิทนร์ ผู้จัดการทั่วไปแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ ลูกจ้างทั้งสองยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายอัมพล 168,000 บาท และแก่นายพยุหลักษณ์ 153,900 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยเพราะสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับนายอัมพลเป็นสัญญาจ้างทดลองงานที่กำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ในการพิจารณาว่าในระหว่างระยะเวลาทดลองงานลูกจ้างได้ปฏิบัติตนให้มีความเหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบของตนหรือไม่ ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะยุติการจ้างลงเมื่อใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า นายอัมพลมิได้ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบ ฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงใช้สิทธิเลิกจ้างได้ กรณีนายพยุหลักษณ์นั้น โจทก์ได้จ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายพยุหลักษณ์แล้ว 81,000 บาท ซึ่งคำนวณได้เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน โดยโจทก์เรียกว่าเงินช่วยเหลือพิเศษหลังเลิกจ้าง ตามสภาพการจ้างหรือข้อบังคับของโจทก์มิได้บัญญัติให้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง จำเลยจึงไม่อาจสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยในส่วนเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของนายอัมพร เสกตระกูล และให้แก้คำสั่งของจำเลยในส่วนเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของนายพยุหลักษณ์ แสงอินทร์ โดยให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายพยุหลักษณ์ แสงอินทร์ 156,000 บาท และให้หักเงินที่นายพยุหลักษณ์ แสงอินทร์ ได้รับไปก่อนแล้ว 81,000 บาท ออกจากเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ได้
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์จะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายอัมพล เสกตระกูล หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามบันทึกการลางานเอกสารหมาย จ.8 ว่า ในระหว่างการทดลองงาน นายอัมพลได้ลาหยุดงาน 8 ครั้ง แต่มีการแจ้งด้วยวาจา การลาหยุดงานและขาดงานดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ตามบันทึกการมาสายเอกสารหมาย จ.9 ว่า ในระหว่างการทดลองงานนายอัมพลได้มาทำงานสายเป็นจำนวน 30 ครั้ง การที่นายอัมพลซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปแผนกบุคคลของโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ โดยระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ มาทำงานสายถึง 30 ครั้งเช่นนี้ย่อมถือว่าได้ว่านายอัมพลไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างนายอัมพลได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายอัมพล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์เลิกจ้างนายอัมพลในระหว่างการทดลองงานได้มีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่กำหนดให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายพยุลักษณ์ แสงอินทร์ 156,600 บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงางกลางว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายพยุหลักษณ์ 153,900 บาท แต่นายพยุหลัษณ์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 156,600 บาท บาท เห็นว่า แม้นายพยุหลัษณ์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งของจำเลยด้วยการนำคดีไปฟ้องต่อศาลก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์ได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายพยุหลักษณ์เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เป็นเงิน 81,000 บาท ครบถ้วนแล้ว และนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยว่านายพยุหลักษณ์มีสิทธิ์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใด และโจทก์ได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายพยุหลักษณ์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และเมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกำหนดจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ให้โจทก์จ่ายให้แก่นายพยุหลักษณ์ขาดจำนวนไป ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 กำหนดจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามจำนวนที่ถูกต้องแท้จริงให้โจทก์จ่ายให้แก่นายพยุหลักษณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายพยุหลักษณ์เป็นเงิน 156,000 บาท เห็นได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเฉพาะส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายอัมพล เสกตระกูล และให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายพยุหลักษณ์ แสงอินทร์ 156,600 บาท โดยหักเงินที่นายพยุหลักษณ์รับไปก่อน 81,000 บาท ออก

Share