คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หญิงทำหนังสือหย่าขาดจากสามี แล้วจดทะเบียนสมรสกับชายอื่นแล้วหญิงขายที่ดินสินสมรสกับสามีเดิมไป สามีฟ้องศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสนั้น เพราะการหย่าไม่สมบูรณ์ หญิงจึงยังเป็นภริยาของสามีเดิมอยู่ กรณีต้องด้วย มาตรา 1495 เมื่อผู้ซื้อไม่สุจริต สามีขอเพิกถอนการขายนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางผ่องเพ็ญ ศะตะรัต หรือ สะระ แต่งงานเป็นสามีภริยาอยู่กินด้วยกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 มีสินสมรสหลายอย่างรวมทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามตราจองเลขที่ 248 ถนนดวงจันทร์อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีชื่อนางผ่องเพ็ญแต่ลำพังผู้เดียวครั้นในราว พ.ศ. 2491 นางผ่องเพ็ญมีชู้และหนีตามกันไป แล้วนางผ่องเพ็ญยังพยายามลอบจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อให้หมดไม่มีอะไรเหลือ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 มกราคม 2492ถึงเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสงขลา ขออายัดการทำนิติกรรมใด ๆไว้แล้ว แต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2494 จำเลยกับนางผ่องเพ็ญได้สมคบกันไปโอนขายที่ดินตราจองเลขที่ 248 ดังระบุนี้แก่จำเลยราคา 80,000 บาท โดยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำสัญญาให้ว่า นางผ่องเพ็ญหย่าขาดจากสามีภริยากับโจทก์แล้ว โจทก์ทราบเรื่องภายหลังก็รีบบอกล้างนิติกรรมนี้ โดยหนังสือ ลงวันที่ 3กรกฎาคม 2494 และขอให้จำเลยส่งคืนตราจองแก่โจทก์ โดยหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ทันที จำเลยไม่คืนให้ จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าสัญญาซื้อขาย ระหว่างจำเลยกับนางผ่องเพ็ญตามฟ้องเป็นโมฆะให้สั่งพนักงานที่ดินเพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าวและให้จำเลยส่งมอบตราจองแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์กับนางผ่องเพ็ญได้หย่าขาดจากสามีภริยากัน จนนางผ่องเพ็ญจดทะเบียนสมรสมีสามีใหม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงโอนขายที่แปลงนี้ให้จำเลย อันเป็นสินเดิมและสินส่วนตัวของนางผ่องเพ็ญ ทั้งมีชื่อนางผ่องเพ็ญถือกรรมสิทธิ์ในตราจองแต่ผู้เดียว นางผ่องเพ็ญย่อมมีสิทธิขายและจำเลยมีสิทธิซื้อได้ และจำเลยรับซื้อโดยสุจริต แล้วจำเลยได้เอาไปจำนองกับธนาคารไว้โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมและเรียกร้องเอาคืน กับตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ

ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางผ่องเพ็ญ แต่โจทก์กับนางผ่องเพ็ญแตกร้าวจนถึงแยกกันอยู่ โจทก์ได้นางสมจิตต์หลานนางผ่องเพ็ญเป็นภริยา ฝ่ายนางผ่องเพ็ญก็ไปได้นายบุญเลิศจดทะเบียนสมรสอยู่กินอย่างเปิดเผยโดยโจทก์กับนางผ่องเพ็ญได้ทำหนังสือหย่ากันนานแล้ว ซึ่งศาลก็เชื่อเช่นนั้น ตามคำวินิจฉัยในความแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 142/2492ของศาลจังหวัดสงขลา หากแต่ศาลว่าไม่มีผลเป็นการหย่าเด็ดขาดก็เพราะความบกพร่องเกี่ยวกับพยานที่ลงชื่อในหนังสือเท่านั้น ทั้งนางผ่องเพ็ญเคยแบ่งที่ดินแปลงนี้ขายเป็นส่วนมาก่อน โดยมีบันทึกของเจ้าพนักงานที่ดินลงในตราจองว่า นางผ่องเพ็ญกับโจทก์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันแล้ว โจทก์หาได้ว่ากล่าวประการใดไม่ การที่จำเลยซื้อส่วนที่ยังเหลือในภายหลัง โดยเสียค่าตอบแทนให้เป็นราคาที่ดิน 80,000 บาท อันเป็นจำนวนพอสมควร จึงไม่มีเหตุที่จะชี้ได้ว่าจำเลยซื้อโดยไม่สุจริต เป็นการช่วยเหลือนางผ่องเพ็ญยักย้ายจำหน่ายทรัพย์ดังโจทก์กล่าวอ้าง เพราะฉะนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายระหว่างนางผ่องเพ็ญกับจำเลย และคดีโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อตัดฟ้องเรื่องอายุความ พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ฟังทนายโจทก์และจำเลยแถลงการณ์ด้วยวาจา และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์กับนางผ่องเพ็ญได้หย่าขาดจากสามีภริยากันจนนางผ่องเพ็ญจดทะเบียนสมรสมีสามีใหม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาได้พิพากษาในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ว่า โจทก์และนางผ่องเพ็ญยังมิได้หย่าขาดจากสามีภริยากันตามกฎหมาย การจดทะเบียนสมรสระหว่างนางผ่องเพ็ญกับนายบุญเลิศตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1490 ดังปรากฏในคดีหมายเลขแดงของศาลจังหวัดสงขลา ที่ 199/2495เมื่อเช่นนี้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1995 ซึ่งบัญญัติว่าเหตุที่การสมรสถูกเพิกถอนไม่เป็นผลให้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาก่อนการเพิกถอนนั้นโดยคู่ความก็ได้ยกข้อสุจริตหรือไม่นี้ว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ต้นปัญหาจึงมีว่าจำเลยได้ซื้อที่พิพาทจากนางผ่องเพ็ญโดยสุจริตหรือไม่

ในข้อนี้ ทางพิจารณาได้ความจากคำพยานในสำนวนคดีนี้ และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 785/2491สำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2492 กับสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 199/2495 ของศาลจังหวัดสงขลาว่า โจทก์กับนางผ่องเพ็ญได้มีเรื่องบาดหมางแตกร้าวกันเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 โดยต่างมีคู่ภริยาและสามีใหม่เลี้ยงดูอยู่กินอย่างเปิดเผย คือ โจทก์ได้นางสมจิตต์บุตรนายล่อง พี่ชายนางผ่องเพ็ญ เป็นภริยา ฝ่ายนางผ่องเพ็ญก็แยกไปจดทะเบียนสมรสอยู่กินกับนายบุญเลิศเนื่องจากโจทก์กับนางผ่องเพ็ญได้ตกลงทำหนังสือหย่าและแบ่งทรัพย์กันแล้ว ในระหว่างนี้ได้มีเรื่องฟ้องร้องกันทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยนางผ่องเพ็ญฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญาหย่าและแบ่งทรัพย์ ทำให้นางผ่องเพ็ญต้องชำระหนี้จำนองที่ดินให้กับธนาคารแห่งเอเชียผู้รับจำนอง ขอให้โจทก์ชำระเงินจำนวนนี้ และฟ้องโจทก์ว่าบุกรุกและชิงทรัพย์ของนางผ่องเพ็ญไป ขอให้ศาลลงโทษ กับโจทก์ฟ้องนางผ่องเพ็ญ และนายบุญเลิศว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลทั้งสองนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสเสีย ในกรณีที่นางผ่องเพ็ญเป็นความกับโจทก์ดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าจำเลยได้เกี่ยวข้องรู้เห็นอยู่ด้วยตลอดมา โดยจำเลยได้เบิกความเป็นพยานนางผ่องเพ็ญในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 785/2491 ว่า นางผ่องเพ็ญมาปรึกษาจะให้ฟ้องโจทก์คดีอาญานี้เหมือนกัน แต่จำเลยเห็นไม่เหมาะ จึงให้นายเกียรติเป็นทนายให้ จำเลยได้เบิกความเป็นพยานนางผ่องเพ็ญในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2492 ว่านางผ่องเพ็ญเอาหนังสือหย่าระหว่างนางผ่องเพ็ญกับโจทก์มาให้จำเลยเซ็นในหนังสือหย่านั้นมีข้อความแบ่งทรัพย์กันโจทก์รับใช้หนี้สินทั้งหมดรวมทั้งของธนาคารเอเชียสี่หมื่นบาทและจำเลยเป็นคนแนะนำให้นางผ่องเพ็ญฟ้องโจทก์ทางอาญาฐานชิงทรัพย์เมื่อนางผ่องเพ็ญมาเล่าเรื่องและปรึกษาจำเลยถึงเรื่องที่โจทก์ไปชิงทรัพย์ และชิงเอาหนังสือหย่าไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2491 และจำเลยได้เบิกความในคดีนี้ว่า จำเลยเป็นทนายความประจำศาลจังหวัดสงขลา จำเลยได้เป็นพยานให้นางผ่องเพ็ญทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาแล้วกลับว่าจะได้เป็นพยานในคดีแพ่งด้วยหรือไม่จำไม่ได้ ก่อนฟ้องคดีอาญา นางผ่องเพ็ญมาปรึกษาจำเลยก่อนแล้วจึงฟ้อง ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าโจทก์กับนางผ่องเพ็ญยังไม่ขาดจากสามีภริยากัน จำเลยเป็นทนายความย่อมทราบดีว่า สิทธิและหน้าที่ของสามีภริยาตามกฎหมายนั้นมีอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยในคดีนี้ก็แสดงว่าจำเลยรู้ว่าศาลฎีกาได้พิพากษาว่าโจทก์กับนางผ่องเพ็ญยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เรื่องความเป็นสามีภริยาระหว่างโจทก์กับนางผ่องเพ็ญนั้นปรากฏในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2492 ว่า ศาลจังหวัดสงขลาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้พิพากษาต้องกันมาว่า หนังสือหย่าระหว่างโจทก์กับนางผ่องเพ็ญไม่มีพยานถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับได้ โจทก์กับนางผ่องเพ็ญยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ คู่ความได้ฟังคำพิพากษาศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2492ได้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ได้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ต่อจากนั้น 27 วัน คือ วันที่ 18 มิถุนายน 2494 จำเลยก็ทำสัญญาซื้อที่พิพาทจากนางผ่องเพ็ญ โดยไม่มีโจทก์รู้เห็นยินยอมด้วย จะว่าจำเลยไม่รู้ถึงคำพิพากษาของศาลที่แสดงถึงฐานะความเป็นสามีภริยาระหว่างโจทก์กับนางผ่องเพ็ญก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตามพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันที่ปรากฏดังกล่าวมาย่อมเห็นได้ถนัดชัดแจ้งว่า จำเลยคงรู้ดีถึงคำพิพากษาที่กล่าวนั้น ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่รู้นอกจากนั้นตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่พิพาท ปรากฏว่าตกลงซื้อขายกันทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้างมีห้องแถวประมาณ 26 ห้อง ปลูกสร้างโดยทุนทรัพย์ของเจ้าของที่ดินมาแต่เดิม ที่จำเลยเบิกความว่าห้องแถวในที่พิพาทผู้เช่าเป็นผู้ปลูกสร้างเองนั้นรับฟังไม่ได้ เพราะแม้แต่นางผ่องเพ็ญเจ้าของที่ดินเดิมและนายอั้นคนเก็บค่าเช่าห้องเช่ารายนี้ ซึ่งเป็นพยานจำเลยเองก็เบิกความเจือสมว่าห้องแถวจำนวน 26 ห้องเจ้าของที่ดินปลูกสร้างมาแต่เดิมก่อนขายให้จำเลย จำเลยซื้อที่พิพาทพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งห้องแถว 26 ห้องจากนางผ่องเพ็ญวันที่ 18 มิถุนายน 2494 แล้วนำไปจำนองนายชวนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2494 หลังจากซื้อเพียง 11 วัน เป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาในวันที่ 16พฤศจิกายน 2494 จำเลยได้นำที่พิพาทนี้ไปจำนองธนาคารมณฑลก็จำนองได้ 100,000 บาท เท่ากับที่จำนองไว้กับนายชวน ตามธรรมดาผู้รับจำนองที่ดินย่อมจะต้องรับจำนองต่ำกว่าราคาอันแท้จริงของที่ดินโดยเฉพาะผู้รับจำนองเป็นธนาคารด้วยแล้วย่อมต้องสืบสวน เพื่อทราบราคาของที่ดินจำนองโดยแจ้งชัดเสียก่อนรับจำนอง ที่ดินรายพิพาทนี้จำเลยได้นำไปจำนอง 2 คราว ได้เงินคราวละ 100,000 บาท ย่อมเห็นได้ว่าราคา80,000 บาทที่นางผ่องเพ็ญขายที่พิพาทให้จำเลยนี้ถูกผิดปกติธรรมดา ถ้าราคาที่พิพาทใกล้เคียงจำนองเงิน 80,000 บาท จริง ธนาคารมณฑลคงจะไม่รับจำนองไว้ในราคา 100,000 บาทเป็นแน่อนึ่ง การที่จำเลยรับซื้อที่พิพาทนี้ จำเลยก็เบิกความรับว่าไม่รู้ว่าเนื้อที่ที่พิพาทมีเท่าไร อาณาเขตติดต่อกับที่ดินของใครบ้าง มีสภาพเป็นอย่างไร แม้แต่ห้องแถวตั้ง 26 ห้องเป็นของผู้ขายปลูกสร้างขึ้นเองขายมาพร้อมด้วยจำเลยก็ไม่รู้ ที่พิพาทนี้จำเลยจะต้องจ่ายเงินซื้อถึง 80,000 บาท การที่จำเลยว่าไม่ได้ตรวจสอบที่ดินรู้เห็นในสิ่งที่ควรรู้เช่นนี้ เป็นการผิดวิสัยธรรมดาสามัญชนในฐานะของจำเลย โจทก์ได้พยายามป้องกันมิให้นางผ่องเพ็ญทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์ โดยได้มีหนังสือไปขออายัดไว้ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาดังปรากฏตามเอกสารหมายจ.2 ลงวันที่ 4 มกราคม 2492 กับบัญชีรับหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินที่โจทก์อ้าง แต่มิวายที่นางผ่องเพ็ญสามารถขายที่พิพาทให้แก่จำเลยได้โดยโจทก์มิได้ยินยอมอนุญาต ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏและเหตุผลดังได้วินิจฉัยกล่าวมา ศาลฎีกาเห็นว่ารูปคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ซื้อที่พิพาทจากนางผ่องเพ็ญโดยสุจริต จำเลยหาได้รับผลในข้อสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495 ไม่ส่วนข้อตัดฟ้องของจำเลยที่ว่าคดีขาดอายุความนั้น ก็เห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความตามข้อตัดฟ้อง

อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินรายพิพาท ระหว่างนางผ่องเพ็ญกับจำเลยเป็นโมฆะให้เพิกถอนเสีย และให้จำเลยส่งมอบตราจองที่ดินรายนี้ เลขที่248 เล่ม 3 หน้า 48 ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 4,000 บาท รวม 3 ศาลแทนโจทก์

Share