คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธินำรถที่ได้คืนมาออกขาย ถ้าได้เงินไม่พอชำระราคาค่าเช่าซื้อที่ยังคงเหลืออยู่ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่จนครบและยอมเสียดอกเบี้ยในค่าเสียหายอัตราร้อยละ18 ต่อปีนั้น เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ โจทก์ติดตามยึดรถคืนได้แล้วนำออกขายได้ราคาต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ราคารถที่ยังขาดอยู่ตามข้อสัญญา ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 224,480 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีตามสัญญานับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน224,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชำระแทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2526 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นิสสันดีเซลบรรทุกสิบล้อกับโจทก์ในราคาค่าเช่าซื้อ 877,880 บาท ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6, จ.7 และ จ.8 ตามสัญญาเช่าซื้อนั้นจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้า 140,000 บาท ส่วนค่าเช่าซื้อที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดรวม 24 งวด ตามที่ระบุในสัญญา หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ทันที หลังจากทำสัญญากันแล้ว จำเลยที่ 1 เพียงแต่ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้โจทก์เป็นเงิน 95,000 บาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าส่วนที่เหลือ และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดแรกซึ่งตามสัญญาระบุว่าต้องชำระภายในวันที่ 27 เมษายน 2526 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามข้อสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ได้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2526 ต่อมาโจทก์ได้ขายไปในราคา 558,400 บาทเมื่อรวมกับค่าเช่าซื้อล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้วยังขาดค่าเช่าซื้อที่ไม่ได้ชำระกันตามสัญญาอยู่เป็นเงิน 224,480 บาทซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินจำนวนนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 กำหนดไว้ว่า เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาได้และนำออกขาย หากขายได้ไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมชำระเงินที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์จนครบสำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นค่าเสียหายซึ่งคู่สัญญามิได้ตกลงกันไว้จำนวนแน่นอน เพราะจำเลยมิได้สัญญาว่าจะใช้เงินราคารถที่ขาดเพียง 224,480 บาท แต่คู่สัญญาตกลงกันเพียงว่าราคารถขาดอยู่เท่าใดก็ให้ชดใช้ให้โจทก์เพียงนั้น จึงไม่ใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดหย่อนเองได้ จำเลยจึงต้องใช้เงิน 224,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีตามข้อสัญญาให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าเรื่องนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญาเช่าซื้อในกรณีผิดสัญญา ได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญาข้อ 8 ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด สัญญาเป็นอันสิ้นสุดลงโดยพลันผู้ให้เช่าซื้อชอบที่จะเอารถคืน ข้อ 9 ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อเอารถคืนมาได้แล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิที่จะนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายโดยเปิดเผยกับบุคคลใดเป็นราย ๆ ไป ตามราคาที่ผู้ให้เช่าซื้อเห็นสมควร จำนวนเงินที่ขายได้ให้นำไปชำระราคาค่าเช่าซื้อที่ยังคงเหลืออยู่ หากราคาทรัพย์สินที่ขายไป ไม่พอชำระหนี้ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบ ข้อ 7 ว่าผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยในค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับลงเหลือ100,000 บาท ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจึงเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share