แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์ แล้วมีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 ผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 4 ความว่า ถ้า ธนาคารจำเลยที่ 4ได้รับเงินค่างวดงานจากบุคคลภายนอกผู้มีชื่อ ที่จ่ายเข้าบัญชีจำเลยที่ 1 เมื่อไร ขอให้ผ่านเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้โจทก์ จำเลยที่ 5 บันทึกข้อความลงในหนังสือของจำเลยที่ 1 ว่าธนาคารไม่ขัดข้องในการผ่านเช็คดังกล่าวเมื่อได้รับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ไม่พอฟังว่าธนาคารจำเลยที่ 4 ตกลงทำสัญญาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีจำเลยที่ 1 พอที่จะชำระเงินตามเช็คธนาคารจำเลยที่ 4 จึงไม่ผูกพันที่จะชำระเงินให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้สั่งจ่ายและหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ลงลายมือชื่อในเช็คตามลำดับ และเรียกเงินจำนวนเดียวกันจากธนาคารจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกคือตัวโจทก์ที่จะรับจ่ายให้แทนหากเช็คพิพาทขาดการชำระเงิน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามเช็ค
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และ 4 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเพราะทำการในนามของจำเลยที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการออกเช็ครวม 4 ฉบับ ชำระหนี้ค่าซื้อเสาเข้มไปจากโจทก์ให้โจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1มีหนังสือเอกสารหมาย จ.9 ถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาคลองเตยของจำเลยที่ 4 ความว่า ถ้าจำเลยที่ 4 ได้รับเงินค่างวดงานของโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เมื่อไร ขอให้ผ่านเช็ค 4 ฉบับตามหมายเลขที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้โจทก์ด้วย จำเลยที่ 5 บันทึกข้อความลงในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวว่า ธนาคารไม่ขัดข้องในการผ่านเช็คดังกล่าวรวม 4 ฉบับเมื่อได้รับเงินค่าก่อสร้างโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก งวดที่ 1 เรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 4 ได้รับเงินค่างวดงานก่อสร้างจากผู้ว่าจ้างเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2525 โจทก์จึงนำเช็คทั้ง 4 ฉบับไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 4 ได้รับเงินรวม 3 ฉบับ คงเรียกเก็บเงินไม่ได้เพียงฉบับเดียว คือเช็คพิพาทในคดีนี้ เหตุที่จำเลยที่ 4 ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเพราะจำเลยที่ 1 มีคำสั่งระงับการจ่ายเงิน
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 4 อีกข้อหนึ่งที่ว่า เอกสารหมาย จ.9 มิใช่สัญญาที่จำเลยที่ 4 ตกลงชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกและจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า หนังสือเอกสารหมายจ.9 ที่จำเลยที่ 1 มีไปยังจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จัดการสาขาคลองเตยของจำเลยที่ 4 นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินและลูกค้าแจงให้จำเลยที่ 4 ทราบเกี่ยวแก่การจัดการชำระเงินตามเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้โจทก์ประการใดเท่านั้น แม้จำเลยที่ 5 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้บันทึกข้อความลงในหนังสือดังกล่าวว่า จำเลยที่ 4 ไม่ขัดข้องในการผ่านเช็คพิพาทก็ตามหาได้ทำให้เอกสารหมาย จ.9 กลายเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 4 ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 4 ยอมรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ให้สัญญาไว้กับโจทก์ว่า หากเช็คพิพาทขึ้นเงินไม่ได้แล้ว จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยแต่ประการใดไม่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เอกสารหมายจ.9 มิใช่สัญญาที่จำเลยที่ 4 ตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับกันไปทั้งสามศาล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”