แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำตั๋ว สัญญาใช้เงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุชื่อ โจทก์ เป็นผู้รับประโยชน์ ไปให้โจทก์ตรงกับคำพรรณนาของจำเลยที่ 2 ทุกประการพร้อมทั้งให้จำเลยที่ 2 มีนามบัตรซึ่งมีรูปเครื่องหมายและตัวอักษรแสดงว่าเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 เมื่อปรากฎว่าโจทก์มอบเงินจำนวนตามตั๋ว สัญญาใช้เงินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2ยักยอกเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เสมือนว่าจำเลยที่ 2เป็นตัวแทน ข้อความตามตรา ประทับด้าน หลังตั๋ว สัญญาใช้เงินที่มีใจความว่าตั๋ว สัญญาใช้เงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้วนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 983(2) จึงไม่มีผลบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ที่ว่า ข้อความอันใด ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋ว เงิน ถ้า เขียนลงในตั๋ว เงิน ข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋ว เงินนั้นไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือเชิดให้จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อโจทก์นำเงินไปให้จำเลยที่ 1กู้ยืมจำนวน 200,000 บาท โดยจะให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ร้อยละ 16 ต่อปีโดยจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ยึดถือเป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 15เมษายน 2526 จำเลยที่ 2 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้มามอบให้โจทก์ โจทก์จึงมอบเงินสดจำนวน 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ไปในวันที่ 15 มิถุนายน 2526 โจทก์ขอถอนเงินคืน จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเช็คที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการเชิดจำเลยที่ 2 ออกเป็นตัวแทน จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชอบชดใช้เงินต้นรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 211,572 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ของเงินต้น 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1แต่เป็นนายหน้าหาเงินฝากให้จำเลยที่ 1 เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน2526 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็ค 200,000 บาท มาแจ้งว่า โจทก์ขอฝากเงินจำเลยที่ 1 ตกลงและได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมประทับตราด้านหลังว่า “ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คที่นำมามอบให้นั้นเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้ว” มอบให้จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน2526 ถึงวันฟ้อง (ไม่เกิน 11,572 บาท เท่าที่โจทก์ขอ) ให้แก่โจทก์และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์ตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่าศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนและศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องนั้น ปัญหานี้นางสาวณัษฐภรณ์ พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 2ไม่ใช่พนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งไปหาคนให้มาฝากเงินกับบริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อรับผลประโยชน์จากบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทน เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นแน่ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1ยอมให้จำเลยที่ 2 นำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.1 ไปให้โจทก์ ตรงกับคำพรรณนาของจำเลยที่ 2 ทุกประการ พร้อมทั้งให้จำเลยที่ 2 มีนามบัตรซึ่งมีรูปเครื่องหมายและตัวอักษรแสดงว่า เป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตในการกระทำของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในประเด็นข้อที่สองว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์หรือจากจำเลยที่ 2 ตามาตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ล.1 จึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และตราประทับที่ระบุว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คที่นำมามอบให้นั้นเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้วนั้น เห็นว่าในกรณีตัวแทนเชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็มีความหมายชัดเจนว่ากิจการที่ตัวแทนเชิดได้กระทำไปย่อมผูกพันต่อตัวการ ดังนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ล.1ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามที่ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1กระทำไปย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 แม้ว่า จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างตัวการกับตัวแทนเชิด ส่วนข้อความตามตราประทับของจำเลยที่ 1 เป็นข้อความที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983(2) ที่ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะต้องมีคำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่า จะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน ข้อความตามตราประทับจึงไม่มีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ที่ว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงินข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่เมื่อข้อความตามตราประทับของจำเลยที่ 1 เป็นที่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คู่กรณีตกลงกันได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 575/2507 ที่จำเลยยกขึ้นมาอ้างในฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิซึ่งกันและกันแล้ว นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ฟังได้ว่า เมื่อโจทก์เรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้โจทก์ก็ไปเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ปรากฏตามบันทึกประจำวันของกรมตำรวจ เอกสารหมาย จ.9 ปรากฏว่าโจทก์เรียกเงินจากจำเลยที่ 2ไม่ได้ โจทก์จึงมาเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้อีก เห็นว่าข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ตกลงจะไม่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น ศาลตรวจดูเอกสารหมาย ล.2 แล้วมีข้อความเพียงว่าคืนเช็คเท่านั้น ไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า เอกสารหมาย ล.2ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่มีผลทางคดี จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์1,000 บาท”.