คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลย รื้อเรือนออกจากที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ ต่อมาปรากฏว่า ศาลพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับเจ้าของที่ดิน ว่าโจทก์หมดสิทธิตามสัญญาที่โจทก์เช่าที่นั้นจากเจ้าของ และได้ความต่อไปว่า เจ้าของตกลงให้จำเลยเช่า ดังนี้ ฐานะในคดีของโจทก์เปลี่ยนเป็นว่าโจทก์ไม่มีมูลที่จะใช้ที่ดินนี้ต่อไป และจำเลยอาจคงอยู่ในที่ดินนี้ โดยอาศัยสิทธิโดยตรงจากเจ้าของ จึงควรรอการบังคับคดีไว้

ย่อยาว

มูลเดิมแห่งกรณีนี้ เนื่องมาจากโจทก์ฟ้องนางระเบียบ นางสังวาลนางทองหยิบ นางสมทรง หรือ อุบล นางไถ่ เป็นจำเลยหาว่าได้อาศัยที่ดินโฉนดที่ 2293 และ 1305 ตำบลวัดกัลยาณ์ (วัดหิรัญรูจี) อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ซึ่งโจทก์เช่าจากกองรักษาที่หลวงกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ปลูกเรือนอยู่ โจทก์ได้บอกเลิกการให้อาศัยให้จำเลยเหล่านี้รื้อเรือนไป จำเลยไม่ยอมรื้อ โจทก์จึงฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยรื้อถอนเรือนออกไป

นอกจากนี้ โจทก์ยังฟ้องกรมธนารักษ์อีกสำนวนหนึ่งว่า ตามที่กองรักษาที่หลวงบอกเลิกสัญญากับโจทก์นั้น ไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิการเช่าที่ดินที่กล่าวข้างต้นตามสัญญาจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้

ศาลชั้นต้นเชื่อว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งห้าเช่าช่วง เมื่อกองรักษาที่หลวงได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมหมดอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้า การบังคับขับไล่จำเลยหามีผลไม่ ทั้งจำเลยได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ในภาวะคับขันด้วยจึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

โดยคำพิพากษาฉบับเดียวกัน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ผิดสัญญา กองรักษาที่หลวงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เช่นกัน

โจทก์อุทธรณ์ทั้ง 6 สำนวน

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยว่า พยานจำเลยไม่พอฟังเป็นหลักฐานผูกมัดโจทก์ต่อจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิจะอยู่โดยสัญญาเช่าช่วงตามกฎหมายโจทก์มีสิทธิขอให้ขับไล่ได้ และจำเลยมีหน้าที่จะต้องมอบที่ดินแก่โจทก์ เพราะได้รับไปจากโจทก์ พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยจากที่ดินรายนี้

ส่วนสำนวนที่โจทก์ฟ้องกรมธนารักษ์นั้นศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืน

จำเลยทั้งห้ามิได้ฎีกา แต่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องว่า กรมธนารักษ์ได้อนุมัติให้จำเลยทั้งห้าเช่าที่รายพิพาทจากกรมธนารักษ์ จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในการเช่าที่ดินรายนี้ และโจทก์ได้ถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนที่ดินนี้แก่กรมธนารักษ์ เมื่อโจทก์หมดสิทธิในที่ดินนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิ ขอให้ศาลบังคับจำเลยได้ ถ้าศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้โจทก์แพ้คดีแก่กรมธนารักษ์ และหากจำเลยถูกบังคับให้ออกจากที่ดินนี้โดยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ย่อมได้รับความเสียหายอย่างยิ่ง ขอให้รอผลของคำพิพากษาศาลฎีกา

โจทก์ขอให้บังคับจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว

ศาลสอบจำเลยทั้งห้าแถลงว่า ต่างยังมิได้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์ฝ่ายกรมธนารักษ์แถลงว่า กรมธนารักษ์เพียงแต่ให้คำรับรองว่าจะให้จำเลยผู้ยังอยู่ในที่พิพาททำสัญญาเช่า ที่ยังไม่ทำเพราะรอคดีระหว่างกรมธนารักษ์กับโจทก์ ซึ่งอยู่ในระหว่างฎีกาให้ถึงที่สุดก่อน

ศาลชั้นต้นสั่งว่า ในระยะนี้เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์อาจหมดสิทธิที่จะครอบครองที่ดินนี้ในฐานะผู้เช่าจากกรมธนารักษ์เมื่อโจทก์หมดสิทธิดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้อยู่ในฐานะเดิมที่จะมีอำนาจขอให้ขับไล่จำเลยผู้อยู่ในที่พิพาทได้ จึงเห็นสมควรให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีระหว่างโจทก์กับกรมธนารักษ์จะถึงที่สุด

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งนี้

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยยังไม่มีสิทธิพิเศษที่จะยันต่อโจทก์ซึ่งจำเลยได้รับสิทธิมอบให้เข้าอยู่อาศัยในที่ดินนี้มาแต่แรกจำเลยมีหน้าที่จะต้องมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ เพราะได้รับมอบไปจากโจทก์ เมื่อคดีของจำเลยเป็นอันยุติถึงที่สุดแล้ว โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลบังคับคดีขับไล่จำเลย การที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในคดีที่กรมธนารักษ์เป็นจำเลยนั้นไม่มีการที่จะบังคับคดีแก่โจทก์ เพราะไม่มีการฟ้องแย้งประการใด พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รอการบังคับคดีไว้ ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งห้า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว

จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว บัดนี้ ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีที่นางแทแรศฟ้องกรมธนารักษ์แล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1689/2500 มีสาระสำคัญว่า นางแทแรศได้ทำผิดสัญญาเช่า ที่ทำไว้กับกรมธนารักษ์ซึ่งตามสัญญาเช่า กองรักษาที่หลวงมีอำนาจที่จะเข้าปกครองเอาสถานที่ได้ ดังนั้น กองรักษาที่หลวงย่อมมีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ เพราะการเข้าปกครองสถานที่เป็นผลของการบอกเลิกสัญญาเช่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเช่นนี้ ทำให้ฐานะในคดีของโจทก์เปลี่ยนเป็นว่าโจทก์ไม่อาจอ้างถึงมูลอันชอบด้วยกฎหมาย เพื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินรายนี้ต่อไปแล้ว ส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าในคดีที่กรมธนารักษ์เป็นจำเลยไม่มีทางที่จะบังคับคดีแก่โจทก์ได้เพราะไม่มีฟ้องแย้งนั้น ข้อนี้ โดยคำพิพากษาที่กล่าวข้างต้นศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่า ถึงจำเลยยังไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่สิทธิที่จำเลยจะบังคับให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้นั้นเป็นสิทธิที่ได้เพิ่มเติมจากการบอกเลิกสัญญารูปการณ์จึงเป็นว่า เมื่อโจทก์จะต้องออกจากที่พิพาทไปก็เป็นส่วนของโจทก์ทางฝ่ายจำเลยนั้น ถ้ากรมธนารักษ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่รายนี้ก็ทำได้โดยอ้างว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์แต่หลักฐานในสำนวนแจ้งชัดว่า กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือบอกให้จำเลยทราบแล้วว่า อนุญาตให้จำเลยเช่าที่ดินรายนี้โดยตรงกับทางราชการและจะได้ดำเนินการจัดทำสัญญาเช่ากับจำเลย เมื่อคดีระหว่างโจทก์กับกรมธนารักษ์ถึงที่สุด จึงเป็นที่เห็นได้ว่าถ้าหากจะบังคับให้รื้อสิ่งปลูกสร้างไป จะเกิดการเสียหายอย่างมาก เพราะจำเลยอาจคงอยู่ในที่รายนี้ได้ในฐานะได้สิทธิโดยตรงจากกรมธนารักษ์

จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความรวม 150 บาท แก่จำเลยด้วย

Share