คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8759/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรกเพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นแล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นมาทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว
ค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) เป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,292 บาท ค่าชดเชยพิเศษ 52,142 บาท และเงินประกันการทำงาน 9,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงิน 26,121 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 21,115 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษจำนวน 51,472.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันเป็นยุติว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารโดยรถยนต์ปรับอากาศสาย ปอ.507 เข้าร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก. วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ถึงขนส่งสายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และวนกลับอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 โจทก์ได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.507 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นรายวัน วันละ 191 บาท กำหนดจ่ายทุกวัน และได้รับค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสารคิดจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 รวมเวลา 10 เดือน คิดเป็นเงินจำนวนรวม 87,875 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน โจทก์พักอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อย และโจทก์กับพี่สาวต่างดูแลกัน ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2550 จำเลยได้มีประกาศคำสั่งพิเศษ/2550 และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลย ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป เนื่องจากจำเลยย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีบ้านพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 120/59 หมู่ที่ 2 ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งระยะทางจากบ้านพักถึงอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ประมาณ 3 กิโลเมตร ระยะทางจากบ้านถึงสายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ประมาณ 58 กิโลเมตร จำเลยย้ายอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ไปเปิดอู่ที่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุทำให้การเริ่มต้นปฏิบัติงานของโจทก์จะต้องเริ่มต้นไปลงเวลาทำงานรับรถยนต์ที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และเมื่อปฏิบัติงานเสร็จโจทก์ก็จะต้องนำรถยนต์ไปเก็บที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร แล้วเติมน้ำมันแล้วจึงจะกลับบ้านโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการได้ จึงถือว่าการย้ายอู่ของจำเลยเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการของจำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะไปทำงานโดยเริ่มต้นทำงานที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยชอบด้วยมาตรา 120 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแก่โจทก์ สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมแก่โจทก์ ส่วนเงินประกันการทำงาน เมื่อจำเลยให้การและนำสืบยอมรับว่าเก็บเงินประกันการทำงานไว้จากโจทก์ 9,720 บาท ดังนั้นเมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์ แต่ถ้าโจทก์ทำความเสียหายให้แก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธินำไปหักกับความเสียหายของจำเลยได้ แต่เมื่อระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสาย ปอ.507 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ของผู้อื่นจนได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายไป 30,835 บาท จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 30,835 บาท เมื่อนำเงินประกันการทำงานของโจทก์มาหักหนี้แล้ว 9,720 บาท คงเหลือที่โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 21,115 บาท และเมื่อนำเงินที่โจทก์จะต้องชดใช้ 21,115 บาท มาหักออกจากค่าชดเชยพิเศษที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ 72,587.50 บาท แล้วคงเหลือค่าชดเชยพิเศษที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ 51,472.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การย้ายอู่จอดรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยเป็นกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์หรือครอบครัว และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยย้ายอู่จอดรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.507 จากต้นทางที่อู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ไปยังปลายทางที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนจุดจอดรถเท่านั้น เพราะการเดินรถยังเดินในเส้นทางเดิม และเพื่อความเหมาะสมในการทำงานจึงเปลี่ยนจุดจอดรถ จุดลงเวลาทำงานและรับส่งรถ กำหนดเวลาทำงานให้สิทธิเลือกเป็น 4 กะ หากทำกะดึกอนุญาตให้ทำกะต่อไปโดยมิใช่กะแรกได้ ลักษณะการทำงานอยู่บนรถตลอดเวลามิได้อยู่ในสำนักงานจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ นั้น เห็นว่า กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรก เพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ ต่อมาจำเลยได้ย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่เป็นสถานที่จอดเก็บรถแทน และในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่ที่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้ แสดงว่าเดิมจำเลยได้ใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปเปิดใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่บ้านเลขที่ 120/59 หมู่ที่ 2 ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่ที่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ซึ่งมีระยะทางห่างจากบ้านพัก 58 กิโลเมตร ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง แล้ว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์มากกว่าที่โจทก์ขอชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์มากกว่าที่โจทก์ขอเป็นการไม่ชอบและขัดต่อกฎหมาย นั้น เห็นว่า การได้รับค่าชดเชยพิเศษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงพึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) และโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 191 บาท และค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสารอันถือเป็นค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย เมื่อคิดค่าชดเชยจากค่าจ้างรายวันโจทก์จะได้รับเป็นเงิน 57,300 บาท และคิดค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ซึ่งนับ 300 วันสุดท้าย (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550) เป็นเงิน 87,875 บาท รวมเป็นค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับเป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการวินิจฉัยให้จ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริงโดยอ้างเหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและระบุอำนาจตามกฎหมายในการวินิจฉัยไว้ด้วยแล้ว จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share