คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจรับประกันภัยวินาศภัยทุกประเภทและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วค 5927 กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย โดยขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินวงเงิน 100,000 บาท ของส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เท่ากับโต้แย้งแล้วว่ามีข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ก็คงถือได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 รับแล้วว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
กรมธรรม์ภาคสมัครใจที่จำเลยที่ 2 ส่งมาตามคำสั่งเรียกและโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. 100,000 บาทต่อคน อันเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในความเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 1 เมษายน 2546 ข้อ 3 กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนดังต่อไปนี้ (1) ห้าหมื่นบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยนอกจากกรณีตาม (2) และ (2) หนึ่งแสนบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ …… (ช) ทุพพลภาพอย่างถาวร โจทก์เบิกความเพียงว่าสภาพร่างกายของโจทก์ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเสริมสวยได้เหมือนเดิม โดยไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บที่โจทก์ได้รับนั้นรุนแรงหรือส่งผลถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมสวยที่ทำประจำอยู่ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพอย่างถาวร ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงมีเพียง 50,000 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย 100,000 บาท และความรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งมีวงเงิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจที่โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์โดยศาลชั้นต้นกำหนดให้ 2,385 บาทแล้ว รวมเป็นเงิน 152,385 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเต็มตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่ต้องรับผิด ไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด เมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 276,395.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 261,676 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 276,395.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 261,676 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มิถุนายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 241,676 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วค 5927 กรุงเทพมหานคร ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 17 ธันวาคม 2546 สิ้นสุดวันที่ 17 ธันวาคม 2547 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิด โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีนายธนกร พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบเอกสาร หากจำเลยที่ 1 มาเบิกความก็ต้องเบิกความตามเอกสารเช่นเดียวกันนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 2 ที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง แม้จำเลยที่ 2 มีนายธนกรเบิกความว่าพยานเดินทางไปที่เกิดเหตุพบจำเลยที่ 1 เมื่อสอบถามได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถออกจากโรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษาเพื่อจะเลี้ยวขวาไปยังถนนเอกชัย มีรถกระบะจอดรออยู่เพื่อให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 เลี้ยวผ่านไป จากนั้นก็มีรถจักรยานยนต์ของโจทก์ขับแซงรถยนต์คันที่จอดรออยู่ จึงเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกัน พยานบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ไว้ แต่นายธนกรกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานไม่ได้อยู่ในขณะเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 เล่าให้ฟังแต่เพียงฝ่ายเดียว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จะให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลอย่างไร ไม่ทราบ นายธนกรจึงไม่ใช่ผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง เมื่อพิจารณาสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนหรือให้การต่อศาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด บันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงข้อมูลที่บันทึกจากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่นำจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความและให้โจทก์ได้ถามค้านเพื่อให้ความจริงปรากฏตามข้อกล่าวอ้าง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์มีส่วนประมาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีส่วนประมาทด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 2 ว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าผ่าตัดและถอดโลหะที่ดามกระดูก ค่าจ้างพี่เลี้ยงดูแลบุตร ค่าพาหนะเดินทางไปกลับ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย และค่าเสียความสามารถประกอบการงานสูงเกินไปนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายมโนชญ์ แพทย์ผู้ทำใบรับรองแพทย์ เบิกความยืนยันว่า โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและถอดโลหะที่ดามกระดูกออกประมาณ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอื่น เมื่อพิจารณาถึงสภาพกระดูกของโจทก์ที่หักบริเวณส่วนล่างถึงสองระดับ และกระดูกตาตุ่มด้านในขาซ้ายหักประกอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้โดยลดลงเหลือเพียง 30,000 บาท นับว่าเหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ลดน้อยลงอีก ส่วนค่าจ้างพี่เลี้ยงดูแลบุตรของโจทก์นั้น ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้วันละ 300 บาท เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 45,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับค่าจ้างทั่วไปตามประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ จำเลยที่ 2 อ้างแต่เพียงลอย ๆ ว่าเป็นอัตราที่สูงเกินโดยไม่นำสืบให้เห็นว่าอัตราที่จ้างกันโดยทั่วไปเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งค่าพาหนะเดินทางไปโรงพยาบาลครั้งละ 300 บาท รวม 20 ครั้ง เป็นเงิน 6,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้วเช่นกัน ส่วนค่าทนทุกข์ทรมานและค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 80,000 บาท นั้น โจทก์นำสืบว่า โจทก์เรียนเสริมสวยจากโรงเรียนนักออกแบบทรงผมประเทศไทย ประกอบอาชีพช่างเสริมสวย มีรายได้เดือนละประมาณ 4,000 บาท โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสหลังจากเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถไปประกอบอาชีพเสริมสวยได้เหมือนเดิม ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกิน 100,000 บาท ของส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจรับประกันภัยวินาศภัยทุกประเภท และเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วค 5927 กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย โดยขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินวงเงิน 100,000 บาท ของส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เท่ากับโต้แย้งแล้วว่ามีข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วค 5927 กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ก็คงถือได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 รับแล้วว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้ว ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนตามตารางกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งเรียกแล้วก็ส่งเพียงกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจตามคำสั่งศาล ซึ่งโจทก์ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวโดยอ้างเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นสืบพยานแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น คดีนี้มีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดเต็มจำนวนตามที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์มีความรับผิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่เมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจที่จำเลยที่ 2 ส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลและโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน มีข้อความระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามพระราชบัญญัติ 100,000 บาท ต่อคน อันเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในความเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 1 เมษายน 2546 ข้อ 3 กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนดังต่อไปนี้ (1) ห้าหมื่นบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยนอกจากกรณีตาม (2) และ (2) หนึ่งแสนบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ……(ช) ทุพพลภาพอย่างถาวร โจทก์เบิกความเพียงว่าสภาพร่างกายของโจทก์ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเสริมสวยได้เหมือนเดิม โดยไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บที่โจทก์ได้รับนั้นรุนแรงหรือส่งผลถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมสวยที่ทำประจำอยู่ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพอย่างถาวร ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงมีเพียง 50,000 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย 100,000 บาท และความรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งมีวงเงิน 1,000,000 บาท ต่อครั้ง ตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจ ที่โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์โดยศาลชั้นต้นกำหนดให้ 2,385 บาทแล้ว รวมเป็นเงิน 152,385 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเต็มตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน นอกจากนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด เมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 152,385 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share