คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5637/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า บริษัท น. โดย ร. ผู้จัดการทั่วไป ผู้รับมอบอำนาจ ขอมอบอำนาจช่วงให้ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจ เพื่อดำเนินคดีใด ๆ ต่อบริษัท ช. โดยให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้ง หรือเป็นจำเลยเข้าต่อสู้คดีในการดำเนินคดีแพ่ง ฯลฯ ข้อความตามที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการ ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะกับบริษัท ช. เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไป และไม่ได้ระบุให้มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองด้วย การที่ ก. แต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยทั้งสองจึงเป็นการฟ้องบุคคลนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจช่วง ทั้งข้อความที่ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ย่อมหมายถึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับบริษัท ช. ตามที่ระบุชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเท่านั้น ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง
โจทก์ทราบมาตั้งแต่ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้วว่า ช. และบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นคนละบริษัทกัน ทั้งไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาแต่ต้น แม้โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจช่วงซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอ้างเอกสารดังกล่าวไว้และได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 หนังสือมอบอำนาจช่วง ดังกล่าวจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,731,917 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,472,215 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,472,215 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ จดทะเบียนไว้ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์ในการขายน้ำมันปิโตรเลียมมีนายเวน เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย โจทก์มอบอำนาจให้นายโรเบิร์ต เป็นผู้ดำเนินคดีนี้ รวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ นายโรเบิร์ต มอบอำนาจช่วงให้นายกมล เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 94 – 1703 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 94 – 2840 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70 – 0542 ระยอง และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70 – 0543 ระยอง จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุก และรถพ่วงดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 1 ในวงเงินที่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกคันละ 600,000 บาท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 เวลา 21.20 นาฬิกา นายสมหวัง ขับรถบรรทุกของโจทก์บรรทุกน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว 36,000 ลิตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 จากทางด้านอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำน้ำมันไปส่งที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 43 ถึง 44 ตำบลนุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี นายอำพร ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 โดยมีนางสาวยุพิน นั่งโดยสารมาด้วย แล่นสวนทางมาและเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกของโจทก์ เป็นเหตุให้รถบรรทุกทั้งสองฝ่ายได้รับความเสียหาย รถบรรทุกของโจทก์เกิดไฟลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งคัน และน้ำมันที่บรรทุกไปได้รับความเสียหายทั้งหมด ส่วนนายอำพรและนางสาวยุพินถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายโรเบิร์ต เป็นผู้ดำเนินคดีนี้รวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และนายโรเบิร์ตมอบอำนาจช่วงให้นายกมล เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งตามหนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด โดยนายโรเบิร์ต ผู้จัดการทั่วไป ผู้รับมอบอำนาจขอมอบอำนาจช่วงให้นายกมล เป็นผู้รับมอบอำนาจ เพื่อดำเนินคดีใดๆ ต่อบริษัทโชคปรีชา จำกัด โดยให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้ง หรือเป็นจำเลยเข้าต่อสู้คดีในการดำเนินคดีแพ่ง ฯลฯ ข้อความตามที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการ ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะกับบริษัทโชคปรีชา จำกัด เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไป และไม่ได้ระบุให้มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองด้วย การที่นายกมลแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการฟ้องบุคคลนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจช่วง ทั้งข้อความที่ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ย่อมหมายถึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับบริษัทโชคปรีชา จำกัด ตามที่ระบุชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเท่านั้น ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจช่วงผิดฉบับและโจทก์ได้ทำการแก้ไขโดยส่งหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับใหม่ที่ถูกต้องแล้ว จึงต้องรับฟังว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยทั้งสองกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว นั้น เห็นว่า ได้ความจากนายออมสิน ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายและเลขานุการของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ก่อนฟ้องได้มีการตรวจสอบทางทะเบียนแล้วพบว่า บริษัทโชคปรีชา จำกัด และบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นคนละบริษัทกัน เช่นนี้ แสดงว่าโจทก์ทราบมาตั้งแต่ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้วว่าบริษัทโชคปรีชา จำกัด และบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นคนละบริษัทกัน ทั้งไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาแต่ต้น แม้โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจช่วงซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอ้างเอกสารดังกล่าวไว้และได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และมาตรา 90 หนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share