คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8752/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งมิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้น เมื่อหนังสือมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำนวน 188,259 บาท และยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์กับมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้และมีตัวโจทก์มาสืบประกอบอธิบายว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปซื้อกระดาษทำกล่องใส่เค้กมาขายให้ โจทก์เพื่อหักหนี้กันจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 188,259 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อ ตามบันทึกข้อความในเอกสารหมาย จ.1ที่มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 188,259 บาทและยังมิได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่โจทก์เบิกความว่า จำเลยทั้งสองบอกกับโจทก์ว่าจะนำเงินที่กู้ไปซื้อกระดาษมาเพื่อทำกล่องใส่เค้กและจะนำกล่องใส่เค้กมาขายให้โจทก์เพื่อหักหนี้กัน จำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 นำกล่องใส่เค้กมาขายให้โจทก์ครบตามจำนวนเงินในเช็คแล้ว โจทก์จะออกเช็คฉบับใหม่ให้ ในปี 2528 มีการคิดบัญชีกันจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 110,000 บาทจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ประมาณ100,000 บาท แต่ได้ชำระโดยการส่งสินค้าได้แก่ผิวส้มเชื่อมและกล่องใส่ขนมเค้ก คงค้างชำระอยู่ประมาณ 30,000 บาท จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์จริง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ได้ให้นายสมานซึ่งเป็นทนายความของโจทก์หลอกลวงให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 โดยอ้างว่าจะนำไปยื่นขอลดหย่อนภาษีต่อกรมสรรพากรนั้น คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยทั้งสองลอย ๆโดยไม่มีพยานอื่นประกอบจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์และไม่น่าเชื่อว่าเป็นความจริง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์เบิกความว่าจำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ในวันทำบันทึกเอกสารหมาย จ.1 จึงขัดแย้งกับข้อความในบันทึกที่แสดงว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนแล้ว จำนวนเงินที่กู้ยืมจึงมีจำนวน 188,259 บาท ซึ่งมีเศษ นายสมานผู้บันทึกเอกสารหมาย จ.1 กำลังศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีความรู้ทางกฎหมายหากเป็นการกู้ยืมเงินก็ย่อมจะระบุข้อความเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันและระบุถึงลายมือชื่อผู้ให้กู้และผู้กู้ด้วย หนังสือทวงถามของโจทก์ก็ระบุว่าเป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองไปกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้ค่ากระดาษทำกล่องใส่เค้กอาจมีจำนวนเป็นเศษได้เมื่อจำเลยนำกล่องใส่เค้กมาขายให้โจทก์เพื่อหักหนี้ยังไม่ครบจึงมีการบันทึกตามข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” คำว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือนั้น กฎหมายมิได้ระบุเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้น เมื่อหนังสือเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 188,259 บาท และยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์กับมีลายมือชื่อจำเลยทั้งสองลงไว้และมีตัวโจทก์มาสืบประกอบอธิบายว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปซื้อกระดาษทำกล่องใส่เค้กมาขายให้โจทก์เพื่อหักหนี้กันเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share