คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8751/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น
ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างข้อ 1.2 ระบุว่าในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินจองไว้แล้ว และข้อ 2 ระบุว่าผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อ 1 โดยแบ่งชำระเป็นงวด ๆดังนี้ เงินค่าจองและเงินที่ชำระงวดที่ 1 ซึ่งชำระในวันทำสัญญาจึงเป็นเงินมัดจำส่วนเงินที่ชำระภายหลังจากนั้นไม่ใช่เงินมัดจำ แต่เป็นเงินที่ชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบางส่วนล่วงหน้า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่ส่งมอบแก่กันเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืน ข้อตกลงที่ให้ริบเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามนัยมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโครงการบ้านปาริชาตระหว่างจำเลยผู้จะขายกับนางสุชาดา ศรีบุญเสริม ผู้จะซื้อ จากนางสุชาดาโดยจำเลยยินยอมต่อมาจำเลยผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย ค่าจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและค่างวดที่โจทก์ชำระรวม 16 งวด รวมเป็นเงิน 948,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับนางสุชาดา ศรีบุญเสริม และจำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดเป็นเงิน 451,500 บาทขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโครงการบ้านปาริชาตระหว่างจำเลยผู้จะขายกับนางสุชาดา ศรีบุญเสริม ผู้จะซื้อจากนางสุชาดานางสุชาดาและโจทก์ชำระเงินค่าจองและผ่อนชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยอีก 16 งวด รวมเป็นเงินจำนวน 451,500 บาทต่อมาโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และริบเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า เงินจำนวน 451,500 บาทที่ชำระให้แก่จำเลยไปนั้นเป็นเงินมัดจำที่จำเลยมีสิทธิจะริบได้ทั้งจำนวนหรือไม่ ในข้อนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินมัดจำ จึงจำเป็นต้องพิเคราะห์ความหมายคำว่า “มัดจำ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญาถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่า การที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้วอนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะไม่ได้ใช้ถ้อยคำว่า “ในวันทำสัญญาถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ” ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า มัดจำจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้ในวันทำสัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างข้อ 1.2 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินจองไว้แล้วเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทและข้อ 2 ระบุว่า ผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อ 1 โดยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ดังนี้ คือ งวดที่ 1ชำระจำนวนเงิน 41,500 บาท ในวันทำสัญญา งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 15 ชำระงวดละ 27,000 บาท ภายในวันที่ 4 ของทุกเดือนเริ่มแต่เดือนกุมภาพันธ์2536 เป็นต้นไป ดังนี้ เงินค่าจองจำนวน 5,000 บาท และเงินที่ชำระงวดที่ 1จำนวน 41,500 บาท จึงเป็นเงินมัดจำตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจำเลยมีสิทธิริบได้ทั้งสองจำนวน ส่วนเงินที่ชำระภายหลังจากนั้นไม่ใช่เงินมัดจำแต่เป็นเงินที่ชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบางส่วนล่วงหน้า ซึ่งเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา หนี้ตามสัญญาย่อมระงับลงเงินที่ส่งมอบแก่กันดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ข้อตกลงที่ให้ริบเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง และนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458-459/2524ระหว่างบริษัท ส.นิมิตก่อสร้าง จำกัด โจทก์ กรมไปรษณีย์ โทรเลข จำเลยซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยได้ขายทรัพย์สินตามสัญญาให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเบี้ยปรับเป็นเงินจำนวน105,000 บาท และให้จำเลยคืนเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว”

พิพากษายืน

Share