แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 มีบัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับสาขาเวชกรรมถูกยกเลิกแล้วโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลย มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างบทกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 33 , 83 , 91 , 302 พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 , 21 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 302 วรรคแรก , 83 พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 (4) , 21 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่เห็นสมควรวินิจฉัยว่า ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดต่อ พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 , 21 ข้อหาร่วมกันประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ขณะจำเลยทั้งสองกระทำผิด พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ประกาศใช้แล้ว ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน ซึ่งมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ว่า พร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
จึงเห็นได้ว่าความผิดข้อหาประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม โดยฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 มีบัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมถูกยกเลิกแล้วโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างบทกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8.