แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินค่าระวางสินค้าเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่าเจรจาในการปล่อยเรือส่วนรายละเอียดเรื่องค่าเสียหายโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสอง สัญญาให้บริการร่วมกันระหว่างโจทก์กับบริษัทท.กำหนดให้บริษัทท. ต้องมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่โจทก์ยึดถือเป็นประกันความเสียหายแต่จำเลยที่1ผู้อำนวยการของโจทก์ลงนามในสัญญาโดยมีแต่สำเนาหนังสือค้ำประกันและสั่งการเกี่ยวกับการเดินเรือโดยไม่ผ่านฝ่ายปฏิบัติการตามระเบียบทั้งยังทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่2มีอำนาจเต็มในนามจำเลยที่1เป็นเหตุให้จำเลยที่2ใช้เอกสารต่างๆแสดงต่อบุคคลภายนอกและก่อหนี้ขึ้นเมื่อเรือของโจทก์ถูกยึดโดยคำสั่งของศาลต่างประเทศเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆดังนี้แม้ว่าจำเลยที่1จะมีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนโจทก์ก็ตามแต่การกระทำต่างๆดังกล่าวของจำเลยที่1ก็เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายทั้งเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของโจทก์และไม่ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังจึงต้องร่วมกับจำเลยที่2รับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ต่อบริษัทท.เพราะไม่มีต้นฉบับหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้โจทก์ยึดถือการสั่งการเดินเรือของจำเลยที่1เป็นเหตุให้จำเลยที่2นำเรือไปเดินรับส่งสินค้ายังท่าเรือที่มิได้ระบุในสัญญาเป็นเหตุให้เรือถูกยึดการที่จำเลยที่2นำหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่1ออกให้เป็นผู้แทนเรือไปใช้แสดงต่อบุคคลต่างๆหาประโยชน์ในทางมิชอบล้วนแต่เป็นผลโดยตรงของการที่จำเลยที่1กระทำละเมิดร่วมกับจำเลยที่2จำเลยที่1จึงต้องร่วมกับจำเลยที่2รับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดแก่โจทก์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของโจทก์กำหนดว่ากรรมการ2นายมีอำนาจลงนามในสัญญาตราสารเอกสารสำคัญแทนบริษัทและประทับตราบริษัทดังนั้นเมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์อายุความ1ปีจึงเริ่มนับเมื่อกรรมการดังกล่าวรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนมิใช่นับแต่สภากรรมการรู้แต่เมื่อกรรมการ2นายผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมสภากรรมการด้วยจึงถือว่าได้รู้ในฐานะผู้แทนโจทก์แล้วแต่เมื่อขณะที่รู้นั้นเหตุละเมิดยังไม่เกิดอายุความจึงยังไม่เริ่มนับอายุความจะเริ่มนับเมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นและผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ และได้รับแต่งตั้งจากสภากรรมการให้เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทพีวีบีเอ เทอรัตตัล เอสพีอาร์แอล จำกัด และได้รับมอบอำนาจจากบริษัทดังกล่าวให้ดำเนินการแทนในกิจการที่เกี่ยวกับโจทก์โจทก์ซื้อเรือสินค้าจากประเทศฝรั่งเศษ 1 ลำ ชื่อ”บางกอก” เพื่อใช้บรรทุกสินค้าเก็บค่าระวาง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเทอรัตตัล ทำสัญญาการให้บริการร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญของสัญญาว่าบริษัทเทอรัตตัลขอนำเรือบางกอกของโจทก์บรรทุกสินค้าที่ทวีปยุโรปเฉพาะเที่ยวเป็นจำนวน 1 เที่ยวเรือ มีกำหนด 70 วันโดยบริษัทเทอรัตตัลรับรองว่าโจทก์จะได้รับเงินค่าระวางสินค้าสุทธิไม่น้อยกว่า 600,000 เหรียญสหรัฐ หากรายได้ของโจทก์น้อยกว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทเทอรัตตัลจะชดใช้ให้โจทก์เป็นเงิน 50,000 เหรียญสหรัฐ และค่าระวางสินค้าที่ได้รับนั้นบริษัทเทอรัตตัลจะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าจากท่าเรือแต่ละท่า หากมีการเรียกร้องค่าสูญหายหรือความเสียหายต่อโจทก์ในฐานะเจ้าของเรือตามใบตราส่งสินค้าบริษัทเทอรัตตัลจะต้องรับผิดชดใช้ทั้งสิ้น และบริษัทเทอรัตตัลต้องมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐให้แก่โจทก์ในขณะทำสัญญา หากบริษัทเทอรัตตัลประพฤติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่เงินค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 23,104,905.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 21,510,499.56 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการโจทก์ได้กระทำไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของโจทก์ มิได้กระทำผิดกฎหมายและไม่เป็นละเมิด ค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริงและมิได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นฟ้องเคลือบคลุม มิได้แจ้งว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมีรายละเอียดอย่างไร โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่เมื่อทราบการละเมิด คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำละเมิดใด ๆ ต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินความเป็นจริงและเคลือบคลุมคำฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารค่าระวางสินค้า เงินชดเชย และค่าใช้จ่ายการดำเนินดคีในต่างประเทศขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 2,313,206.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 4,600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องค่าเสียหายโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องบรรยายมาในฟ้องไม่ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินค่าระวางสินค้า เงินชดเชย และการที่เรือของโจทก์ถูกยึดณ ต่างประเทศ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าเจรจาในการให้ปล่อยเรื่อง รวมค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยทั้งสิ้น 23,104,905.81 บาท จึงมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ในการลงนามในสัญญาให้บริการร่วมกัน (JUINT SERVICE AGREEMENT) ตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 1 มิได้ลงนามด้วยตนเอง แต่ได้ลงนามร่วมกับพลเรือเอกเทียม มกรานนท์ในฐานะกรรมการบริษัทโจทก์ก่อนลงนามก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทั้งยังได้รายงานให้สภากรรมการทราบแล้ว จึงไม่เป็นละเมิดนั้นเห็นว่า ลำพังการทำสัญญาให้บริการร่วมกัน หากได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ย่อมไม่เป็นละเมิด แต่เหตุที่เป็นละเมิดที่ทำให้โจทก์เสียหายนั้น ได้แก่ ในการทำสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นกรรมการและผู้อำนวยการบริษัทโจทก์ไม่จัดให้โจทก์ได้รับหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐ และในการเดินเรือจำเลยที่ 1 ได้สั่งการเกี่ยวกับการเดินเรือโดยตรงไม่ผ่านฝ่ายปฏิบัติการ ก่อให้เกิดความเสียหาย และเป็นเหตุให้การส่งมอบเรือคืนล่าช้าไปถึง 1 เดือน และกรณีที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจเต็มในนามของจำเลยที่ 1 ผู้อำนวยการของโจทก์ในฐานะผู้แทนเจ้าของเรือเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ใช้เอกสารดังกล่าวแสดงต่อบุคคลภายนอกและก่อหนี้ให้โจทก์ต้องรับผิด ซึ่งในเหตุแห่งการละเมิดดังที่กล่าวมาแล้วได้ความว่าตามสัญญาให้บริการร่วมกันเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 11 กำหนดให้บริษัทเทอรัตตัลต้องมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐ ให้แก่โจทก์ในขณะทำสัญญาแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะลงนามในสัญญาการให้บริการร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น มีแต่สำเนาหนังสือค้ำประกันของธนาคารเครดิตในประเทศเบลเยี่ยมเป็นมูลค่า 200,000 เหรียญสหรัฐและมีหนังสือรับรองของผู้แทนบริษัทเทอรัตตัลยืนยันว่าจะนำหนังสือค้ำประกันมามอบให้ภายหลัง แต่ก็ปรากฎว่าบริษัทเทอรัตตัลไม่ได้นำต้นฉบับหนังสือค้ำประกันของธนาคารดังกล่าวมามอบให้โจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการบริษัทโจทก์แต่งตั้งโดยสภากรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ตามคำสั่งที่ 2/2523 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2523 ซึ่งจะต้องดำเนินการตามบริคณห์สนธิระเบียบข้อบังคับและตามมติสภากรรมการหรือประธานกรรมการบริษัท ทั้งในการดำเนินกิจการของบริษัทโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการและผู้อำนวยการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้ำขายผู้ประกอบไปด้วยความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 อีกด้วย การที่จำเลยที่ 1ไม่จัดการให้มีต้นฉบับหนังสือค้ำประกันมามอบให้โจทก์ขณะทำสัญญาตามข้อตกลงจึงเป็นการประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายเพราะเมื่อบริษัทเทอรัตตัลผิดสัญญาก็ไม่สามารถบังคับเอากับเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งการเกี่ยวกับการเดินเรือโดยตรง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องลับและเร่งด่วนอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบของโจทก์ โดยโจทก์มีเรือเอกประสิทธิ์มงคลประสิทธิ์ ฝ่ายปฏิบัติการเรือมายืนยันถึงเรื่องนี้ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ให้ฝ่ายปฏิบัติการเรือสั่งการเดินเรือตามที่เคยปฏิบัติ การที่จำเลยที่ 1 สั่งปล่อยเรือบางกอกก่อนลงนามในสัญญา 2 วัน และการสั่งการของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้เรือบางกอกมิได้จอดตามท่าที่กำหนด และจำเลยที่ 2 ถือโอกาสนำเรือบางกอกเดินทางรับขนสินค้าตามท่าที่ไม่ได้ระบุไว้ ตลอดทั้งเก็บเงินค่าระวางสินค้าตามท่าเรือแต่ละท่าไปเป็นประโยชน์ของตน โดยไม่ส่งเงินค่าระวางสินค้าแก่โจทก์ และในการสั่งการเดินเรือของจำเลยที่ 1ที่มิให้ขนถ่ายสินค้าขึ้นท่าเรือประเทศมาเลเซีย เป็นเหตุให้เรือบางกอกถูกยึดโดยคำสั่งศาลประเทศมาเลเซียเป็นเวลานานถึง30 วัน โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นค่าน้ำมัน ค่าอาหารและเงินเดือนพนักงานเรือ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้มีการปล่อยเรืออีกส่วนหนึ่งและเงินชดเชยในการใช้เรือเกินกำหนดเวลาที่ตกลงกันก็ไม่ได้รับอันเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลมาจากการสั่งเดินเรือของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้นเหตุละเมิดอีกประการหนึ่งก็คือการที่จำเลยที่ 1 ทำเอกสารแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเรือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โดยใช้กระดาษมีชื่อบริษัทโจทก์ และระบุตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้มีอำนาจเต็มของโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.3 เรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการบริษัท เพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 นำไปอ้างแสดงต่อบุคคลทั่วไปและบริษัทต่างประเทศตลอดจนอาศัยหนังสือดังกล่าวไปก่อหนี้สินให้ผูกพันโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1ดังได้วินิจฉัยมา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นกรรมการผู้อำนวยการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนโจทก์ก็ตาม แต่ก็จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ทั้งเป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของโจทก์ นอกจากนี้ยังไม่ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบการด้วยความระมัดระวังอีกด้วย จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ร่วมผิดต่อโจทก์เพียงใด ซึ่งศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1ร่วมรับผิดในจำนวนเท่ากัน แต่ศาลอุทธรณ์ให้รับผิดในจำนวนที่น้อยกว่าโดยให้รับผิดเพียงจำนวนที่จำเลยที่ 2 ไม่จัดให้จำเลยที่ 2นำเอาหนังสือค้ำประกันของธนาคารมามอบให้โจทก์ในวันทำสัญญาซึ่งเป็นเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 4,600,000บาท เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ที่บริษัทเทอรัตตัลเป็นหนี้อยู่ก็เป็นเพราะไม่มีต้นฉบับหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาให้โจทก์ยึดถือเพื่อบังคับเอากับเงินจำนวนดังกล่าวได้ก็ดี การที่โจทก์ต้องเสียหายเพราะการสั่งการเดินเรือของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 นำเรือบางกอกไปเดินรับส่งสินค้ายังท่าเรือที่มิได้ระบุในสัญญาและเก็บค่าระวางเป็นของตนเองตลอดจนเรือถูกยึดก็ดี การที่จำเลยที่ 2 นำเอาหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ออกให้เป็นผู้แทนเรือไปใช้แสดงต่อบุคคลต่าง ๆ หาประโยชน์ในทางมิชอบก็ดีล้วนแต่เป็นผลโดยตรงของการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดร่วมกันกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2รับผิดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดแก่โจทก์
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้รายงานต่อที่ประชุมสภากรรมการสามัญครั้งที่ 9/2525 เมื่อวันที่ 13กันยายน 2525 ตามเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งพลเรือเอกเทียม มกรานนท์เป็นประธานกรรมการแล้ว สภากรรมการจึงรู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทเทอรัตตัลในวันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของโจทก์หมวด 4 ข้อ 32 ซึ่ง ระบุว่ากรรมการ2 นาย มีอำนาจลงนามในสัญญาตราสารเอกสารสำคัญแทนบริษัทได้และต้องประทับตราของบริษัทด้วย ดังนั้นกรรมการดังกล่าวจึงเป็นผู้แทนของบริษัทโจทก์ไม่ใช่สภากรรมการ อายยุความ 1 ปี จึงเริ่มนับแต่กรรมการดังกล่าวรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่สภากรรมการรู้อย่างไรก็ตามปรากฎว่ากรรมการดังกล่าวคือพลโทประเทียบ เทศวิศาล และนายองอาชว์โพธิสุนทร ได้เข้าประชุมสภากรรมการด้วย จึงถือได้ว่าได้รู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนโจทก์ในที่ประชุมนั้นด้วย แต่ตามบันทึกการประชุมสภากรรมการบริษัทโจทก์เอกสารหมาย ล.10 ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบและโจทก์ได้จัดทำสัญญากับบริษัทเทอรัตตัล และเรือบางกอกได้เดินทางไปรับสินค้าเพื่อเดินทางไปยุโรปต่อไป ซึ่งขณะรายงานดังกล่าวเหตุละเมิดยังมิได้เกิด เป็นแต่รายงานให้ทราบเกี่ยวกับการทำสัญญาและรับสินค้าของเรือบางกอกเท่านั้น อายุความจึงไม่เริ่มนับ อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่มีเหตุละเมิดเกิดขึ้นแล้วผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น เมื่อได้ความว่าสภากรรมการโจทก์ซึ่งรวมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ทราบถึงการที่ไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามสัญญา และการกระทำต่าง ๆ ของจำเลยทั้งสองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2525 ดังปรากฎตามบันทึกการประชุมสภากรรมการบริษัทโจทก์ เอกสารหมาย จ.4 และเมื่อวันที่ 27ธันวาคม 2525 จึงทราบในที่ประชุมสภากรรมการอีกว่า จำเลยที่ 1แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนตามบันทึกการประชุมเอกสารหมาย จ.5ดังนั้น จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างเร็วตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2525 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2526 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2รับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นพิพากษานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์