คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8062/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำคดีแพ่งมาฟ้องจำเลยที่1หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่1เด็ดขาดแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีล้มละลายที่จำเลยที่1ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดใหม่ซึ่งมีผลให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันเพิกถอนไปในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา209ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ก็ตามก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1กลับมีอำนาจฟ้องขึ้นอีกโดยอาศัยเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันยื่นคำฟ้องนั้น จำเลยที่2เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองทรัพย์สินของตนประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกของจำเลยที่1ต่อโจทก์จำเลยที่3เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่2ของจำเลยที่1ต่อโจทก์จำเลยที่2และที่3มิได้เป็นลูกหนี้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายล้มละลายที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งและแม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1ก็ไม่มีผลกระทบถึงความรับผิดของจำเลยที่2และที่3ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองจำเลยที่2และที่3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงิน 829,260.84 บาท และ 733,990.44 บาทตามลำดับ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,723.05 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ดังกล่าวนับแต่ถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดหากขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1เพราะขณะที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 21 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1ตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.558/2531ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่27 ตุลาคม 2531 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 26, 27และ 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 คือขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขาดเหลือเท่าใด โจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไป การที่โจทก์ยังไม่ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 829,260.84 บาท และ 733,990.45 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 796,121.84 บาทและ 666,102.72 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22กันยายน 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 81,723.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 74,164.38 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่22 กันยายน 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดหากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวัน และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 4 ฉบับเมื่อคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 กันยายน2533) จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 829,260.84 บาทจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 1ต่อโจทก์ และได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20264ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ(พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันพร้อมกับทำสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้จนครบถ้วน เมื่อคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 733,990.45 บาท จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2 ต่อโจทก์ เมื่อคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 81,723.05 บาทจำเลยที่ 1 ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่27 ตุลาคม 2531 ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.558/2531ของศาลชั้นต้น ระหว่างบริษัทเงินทุนชาติไพบูลย์ จำกัด โจทก์เรือตรีประกอบ หอมจันทน์ จำเลย และศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533 ส่วนในคดีล้มละลายศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ซึ่งต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีล้มละลายดังกล่าวใหม่ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 และที่ 3จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) ประกอบกับมาตรา 26 และมาตรา 27บัญญัติถึงอำนาจฟ้องของเจ้าหนี้ว่า เมื่อศาลพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในกฎหมายล้มละลายเท่านั้น เจ้าหนี้จึงไม่มีอำนาจฟ้องลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่27 ตุลาคม 2531 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่17 ตุลาคม 2533 ให้พิจารณาคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดใหม่ ซึ่งมีผลให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันเพิกถอนไปในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 209 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 กลับมีอำนาจฟ้องขึ้นอีก โดยอาศัยเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันยื่นคำฟ้องนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันและจำนองทรัพย์สินของตนประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และจำเลยที่ 3 ซึ่งได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ฉบับที่ 2ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นลูกหนี้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายล้มละลายที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดี และแม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ก็ไม่มีผลกระทบถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินจำนวน733,990.45 บาท และ 81,723.05 บาท ตามลำดับ ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 666,102.72 บาทและ 74,164.38 บาท คิดถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 กันยายน 2533)ไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 2ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา

Share