คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 766/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่1ที่2และที่3ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายให้ชำระหนี้ให้โจทก์ในจำนวนหนี้ที่ผู้ตายนำไม้ของโจทก์ไปขายแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์กับหนี้อื่นที่ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์โดยจำเลยที่1ที่2และที่3ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้ทำหนังสือรับสภาพเจ้าหนี้ให้โจทก์ไว้เป็นการฟ้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่1ที่2และที่3ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายชำระหนี้ให้แก่โจทก์การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยที่1ที่2และที่3ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายกับจำเลยที่4ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายรับผิดชำระหนี้ที่ผู้ตายนำไม้รายเดียวกันในคดีก่อนไปขายแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์โดยอ้างว่าหนี้ดังกล่าวมีจำนวนเงินมากกว่าที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อนโจทก์จึงนำหนี้ที่เหลือมาฟ้องคดีนี้นั้นเป็นการฟ้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกับการฟ้องคดีก่อนแต่กรณีมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา148เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแต่เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา173วรรค(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาของนายสมนึก พันธ์พัฒน์จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของนายสมนึก จำเลยที่ 4เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมนึก เดิมนายสมนึกเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ นายสมนึกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2531ในระหว่างที่นายสมนึกเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ นายสมนึกได้นำไม้กระยาเลยของโจทก์ไปขายให้แก่บริษัทโรงเลื่อยจักรแพร่ไพรวัน จำกัด และไม่นำเงินส่งให้แก่โจทก์คือไม้จากป่าโครงการน้ำลีน้ำน่าน ตอนที่ 5 แปลงที่ 15 จำนวน 1,920,000 บาทต่อมาทายาทของนายสมนึกได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้โจทก์ไว้จำนวน 3,077,326 บาท จึงคงอ้างเงินอยู่อีก 2,442,674 บาทและไม้จากป่า โครงการน้ำว้า – ห้วยสาลี่ ตอนที่ 5 แปลงที่ 15จำนวน 1,402.33 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 4,169,499 บาท ต่อมาทายาทของนายสมนึกได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้จำนวน 3,460,000 บาท จึงคงค้างเงินอยู่อีก 709,499 บาท รวมเป็นเงินที่ค้างทั้งสิ้น 3,152,173 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,152,173 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การที่โจทก์ฟ้องว่านายสมนึก พันธ์พัฒน์ได้นำไม้ของโจทก์ไปขายให้แก่บริษัทโรงเลื่อยจักรแพร่ไพรวัน จำกัดเป็นเงิน 5,520,000 บาท จำเลยไม่รับรองและไม้เป็นความจริง เพราะขณะทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531 โจทก์แจ้งว่านายสมนึกมีหนี้เกี่ยวกับไม้จำนวนดังกล่าวเพียง 3,077,325 บาท และ3,460,000 บาท เท่านั้น จำเลยจึงได้ยอมตกลงรับสภาพหนี้เงินจำนวนดังกล่าว หนี้ค่าไม้จำนวน 5,520,000 บาท และจำนวน4,169,499 บาท ได้ถูกแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531 แล้ว หนี้จำนวนดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจำนวน 3,152,173 บาทจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากการขายไม้รายเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2532 ของศาลชั้นต้น โดยในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้บางส่วนโจทก์จึงได้ฟ้องคดีตามสัญญารับสภาพหนี้ก่อนและศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงได้มาฟ้องเรียกหนี้ส่วนที่เหลือเป็นคดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษา 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2532 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมนึกผู้ตายให้ชำระหนี้ให้โจทก์ในจำนวนหนี้ที่ผู้ตายนำไม้ของโจทก์ไปขายแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์กับหนี้อื่นที่ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ของผู้ตายให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน เป็นการฟ้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตาย โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ค่านำไม้ของโจทก์ไปขายแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์กับหนี้อื่นดังฟ้องของโจทก์เพียงใดหรือไม่ซึ่งคดีนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายชำระหนี้ของผู้ตายให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยที่ 1 และ 2 และที่ 3ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตาย กับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายรับผิดชำระหนี้ที่ผู้ตายนำไม้รายเดียวกับในคดีก่อนไปขายแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์ โดยอ้างว่าหนี้ดังกล่าวมีจำนวนเงินมากกว่าที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน โจทก์จึงนำหนี้ที่เหลือมาฟ้องคดีนี้นั้น เห็นได้ว่าการฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ เป็นการฟ้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกับการฟ้องคดีก่อน และคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อนในส่วนที่ว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ค่านำไม้ของโจทก์ไปขายแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์เพียงใดหรือไม่ แม้จะได้ความดังกล่าว กรณีก็มิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องคดีก่อนต่อศาลชั้นต้น และคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้นำคดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันนั้นมายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นอีก จึงเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะมิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้เอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share