คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นคู่หมั้น โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญาหมั้น ซึ่งเป็นคดีมิใช่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน
แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้อนจะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความสามารถยกขึ้นว่ากล่าวภายหลังได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้จากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับคู่ความที่จะต้องนำสืบหรือมีข้อกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ได้
จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 มาร่วมเจรจาและรับรู้วันประกอบพิธีหมั้น อันเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่ต้องมีผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมารับรู้การหมั้น ถือว่า จำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาหมั้นรายนี้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 ถือเป็นญาติผู้ใหญ่ที่มาร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อเป็นเกียรติแก่การหมั้นเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงมิใช่คู่สัญญาในการหมั้นครั้งนี้แต่อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถอนหมั้นกันเมื่อใดแต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเรื่องถอนหมั้นให้ประธานในพิธีหมั้นทราบแล้ว ก็ถือว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้มีการถอนหมั้นกันอย่างเป็นทางการในวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในเขตอำนาจโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ คดีโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท และใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสอง) โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้หมั้นโจทก์ที่ 1 ด้วยแหวนเพชร 1 วง ราคา 240,000 บาท โดยตกลงจะแต่งงานกันภายหลังจากโจทก์ที่ 1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ถอนหมั้นโจทก์ที่ 1 โดยคดีนี้โจทก์ที่ 1 อ้างว่าการผิดสัญญาหมั้นของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงและจากการจัดการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายเป็นเงินรวม 2,802,800 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงเป็นเงิน 197,200 บาท แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่างเกิดจากการผิดสัญญาหมั้น แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท และใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 2 ฎีกา ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และให้ชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 และทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 2 ไม่เกินสองแสนบาททั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 และฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ที่ 2 มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่เห็นควรวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า การดำเนินคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและเป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 411/2546 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามมิได้ยกปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การและไม่นำสืบถึงคดีดังกล่าวเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความสามารถยกขึ้นว่ากล่าวภายหลังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะยกขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับคู่ความที่จะนำสืบหรือมีข้อกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามบทมาตราดังกล่าวมิได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคู่สัญญาหมั้นด้วยหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 รับจำเลยที่ 2 ไปที่บ้านโจทก์ที่ 2 เพื่อไปรับฟังเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 1 จะหมั้นกันและโจทก์ที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 2 ว่า ให้จำเลยที่ 2 พาผู้ใหญ่ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาในงานโดยคาดคั้นว่าถึงอย่างไรก็ต้องไปหาผู้ใหญ่มาเป็นเกียรติในงานหมั้นต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2542 โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ประกอบพิธีหมั้น โดยจำเลยที่ 2 ไปงานหมั้น และมีจำเลยที่ 3 อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 ไปร่วมงานโดยเดินทางด้วยเครื่องบินจากจังหวัดเชียงใหม่ และกลับจังหวัดเชียงใหม่ในตอนเย็นวันเดียวกัน เห็นว่า การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ไปร่วมเจรจาที่บ้านโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ 1 และรับรู้วันประกอบพิธีหมั้น ทั้งไปร่วมงานหมั้นในฐานะมารดาจำเลยที่ 1 อันเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่ต้องมีผู้ใหญ่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงรับรู้การหมั้น ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาหมั้นรายนี้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 คงเป็นญาติผู้ใหญ่มาร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อเป็นเกียรติแก่พิธีหมั้นเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงมิใช่คู่สัญญาหมั้นแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 จึงฟังขึ้นแต่บางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า เหตุแห่งการผิดสัญญาหมั้นเกิดจากโจทก์ที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่า เหตุที่บอกเลิกสัญญาหมั้นเพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดจากโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 เคยชวนให้จำเลยที่ 1 มีกิจกรรมทางเพศและชอบจับอวัยวะเพศของจำเลยที่ 1 ปลุกอารมณ์จนสำเร็จความใคร่ ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 แคลงใจว่า โจทก์ที่ 1 จะใช่สาวบริสุทธิ์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ที่ 1 ยังสบประมาทจำเลยที่ 1 ว่า บ่มิไก๊ และว่าจำเลยที่ 1 เป็นพวกรักร่วมเพศ นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ไม่ให้ความเคารพจำเลยที่ 2 และว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่มีความยุติธรรม ทั้งเรียกขานจำเลยที่ 2 ว่าแม่ศรี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้จำเลยที่ 2 เมื่อต้องเลือกระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเลือกจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นคู่หมั้นกัน ย่อมมีความผูกพันสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งกว่าธรรมดา อีกทั้งจำเลยที่ 1 ไปค้างที่บ้านโจทก์ทั้งสองหลายครั้ง และโจทก์ที่ 1 ก็ไปค้างที่คอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้วจึงเลื่อนลอยไม่สมเหตุสมผลและไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 1 หญิงคู่หมั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์ที่ 1 สมควรได้ค่าทดแทนหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 บัญญัติว่า ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้ (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส ฯลฯ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างหมั้นโจทก์ที่ 1 กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นกำลังใจสำคัญในการสนับสนุนการศึกษา การถอนหมั้นย่อมเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้โจทก์ที่ 1 ต้องอับอายเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงทั้งยังเป็นสาเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สำเร็จการศึกษาอันมีผลต่ออนาคตของโจทก์ที่ 1 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกามีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีเรื่องทะเลาะกันอยู่เสมอ ซึ่งจำเลยที่ 1 มักจะพูดเรื่องถอนหมั้น แต่หลังจากนั้นก็กลับมาคืนดีกันดังเดิม เมื่อเดือนธันวาคม 2542 โจทก์ที่ 1 ก็ไปช่วยงานศพของบิดาจำเลยที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 ยังเป็นช่างภาพในงานแต่งงานน้องชายโจทก์ที่ 1 และเดือนพฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังพาโจทก์ที่ 1 ไปเยี่ยมจำเลยที่ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่แน่ชัดว่ามีการถอนหมั้นกันจริงจังหรือไม่ จนกระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเรื่องถอนหมั้นให้นาวาอากาศโททินกร ซึ่งเป็นประธานในพิธีหมั้นทราบแล้ว ดังนี้ กรณีต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้มีการถอนหมั้นกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2545 ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะยื่นคำฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ต่อมาโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลหรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ดังนั้น การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาของโจทก์ที่ 2 และฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 2 ทั้งหมด และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share