แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเป็นผู้เล่นแชร์วงเดียวกัน มีข้อตกลงกันว่าผู้เล่นแชร์ที่ประมูลได้ต้องออกเช็คสั่งจ่ายเงินฉบับละ30,000 บาท โดยไม่ลงวันสั่งจ่ายให้หัวหน้าวงแชร์นำไปเก็บเงินค่าแชร์และมอบเช็คนั้นให้ผู้เล่นแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้เมื่อถึงเดือนที่ผู้เล่นแชร์ประมูลได้ก็ให้ลงวันที่ 27 ของเดือนปีที่ประมูลได้ในเช็คที่รับไว้แล้วนำไปเรียกเก็บเงิน เช็คดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่มีวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงเป็นวันที่ 27 ของเดือนปีที่ผู้ทรงเช็คประมูลได้ เมื่อจำเลยประมูลได้แล้ววงแชร์ล้ม ผู้ร่วมเล่นแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้และได้รับเช็คของจำเลยไว้ได้มีการจับสลากกันว่าผู้ใดจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินในเดือนใด โจทก์จับสลากได้และจะต้องลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 27 มิถุนายนหรือกรกฎาคม 2523 ตามข้อตกลง แต่โจทก์กลับลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 14 มกราคม 2525 จึงเป็นวันสั่งจ่ายที่ไม่ถูกต้องแท้จริง เป็นการไม่สุจริตและเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ถูกต้องแท้จริงในเช็คคดีโจทก์จึงขาดอายุความ คดีที่ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2525 จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนสุขสวัสดิ์ สั่งจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายอ้างว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์จึงยังไม่ได้รับเงินตามเช็คและได้ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คฉบับหนึ่งในจำนวนหลายฉบับที่จำเลยออกตามสัญญาเล่นแชร์ในปี พ.ศ. 2522 มีผู้ร่วมเล่นแชร์รวม14 มือ โจทก์และจำเลยร่วมเล่นแชร์คนละมือ ผู้ใดประมูลได้ต้องออกเช็คฉบับละ 30,000 บาท โดยยังไม่ลงวันที่สั่งจ่ายมอบให้หัวหน้าวงแชร์เพื่อไปเก็บเงินจากลูกวงแล้วนำมาชำระแก่ผู้ประมูลได้ ครั้นต่อไปลูกวงที่ได้รับเช็คไว้ถ้าประมูลได้จึงมีสิทธิที่จะลงวันที่ในเช็คตามที่ตกลงกันไว้ไปขึ้นเงินจากธนาคารได้ ต่อมาการประมูลครั้งแรกจำเลยเป็นผู้ประมูลได้ จึงมอบเช็คตามจำนวนลูกวงที่เล่นกันให้หัวหน้าวงแชร์เพื่อไปเก็บค่าแชร์ แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่เคยได้รับเงินค่าแชร์ตามที่ประมูลได้และวงแชร์ล้มลง มีการตกลงกันอีกว่า ถ้าเช็คฉบับใดที่หัวหน้าวงแชร์ได้นำไปเก็บเงินจากลูกวงคนใดแล้วหัวหน้าวงแชร์จะใช้คืนและจะนำเช็คมาคืนให้แก่จำเลย ดังนั้นหากเช็คตามฟ้องของจำเลยอยู่กับโจทก์และโจทก์ได้ชำระค่าแชร์แก่หัวหน้าวงแชร์ไปแล้วจริง โจทก์ก็ต้องไปเรียกร้องเอาคืนจากหัวหน้าวงแชร์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ทั้งแชร์ที่เล่นกันตกลงประมูลกันเดือนละครั้ง หากโจทก์สุจริตก็จะต้องลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คอย่างช้าภายใน 14 เดือน นับแต่เริ่มเล่นแชร์คือภายในเดือนมิถุนายน 2523 แต่เช็คที่นำมาฟ้องกลับปรากฏว่าโจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเป็นวันที่ 14 มกราคม 2525 ล่วงเลยระยะเวลาที่ตกลงกันตามประเพณีการเล่นแชร์ถึงเกือบ 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 467 บาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามเอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 ซึ่งเป็นเอกสารที่หัวหน้าวงแชร์มอบให้แก่โจทก์จำเลยไว้มีข้อความตรงกันว่า “เช็คทุกฉบับให้ลงวันที่ 27 ” แสดงว่าผู้เล่นแชร์ที่ประมูลได้ต้องออกเช็คสั่งจ่ายเงินฉบับละ 30,000 บาท โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายให้หัวหน้าวงแชร์เพื่อนำไปเก็บเงินค่าแชร์และมอบเช็คดังกล่าวให้ผู้เล่นแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้ เมื่อถึงเดือนที่ตนประมูลได้ก็ลงวันที่ 27 เดือนปีที่ประมูลได้ในเช็คที่รับไว้นำไปเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เช็คดังกล่าวนี้จึงเป็นเช็คที่มีวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงเป็นวันที่ 27 ของเดือนปีที่ผู้ทรงเช็คประมูลได้ ดังนี้ เช็คพิพาทจึงมีวันสั่งจ่ายเป็นวันที่ 27 ของเดือนปีที่โจทก์ประมูลได้ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงเพียงว่าผู้ร่วมเล่นแชร์และรับเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไว้มีสิทธิลงวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงเองได้เท่านั้น เป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 218, 243(1) ประกอบมาตรา 247 เป็นว่าเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายมีวันที่ 27 ของเดือนปีที่โจทก์ประมูลได้เป็นวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงปรากฏว่าเมื่อจำเลยประมูลได้แล้ววงแชร์ล้ม ผู้ร่วมเล่นแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้และได้รับเช็คของจำเลยไว้ ได้มีการจับสลากกันว่าผู้ใดจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเดือนใด โจทก์เบิกความว่าจับสลากเมื่อเดือนตุลาคม 2522 ได้เป็นคนที่ 8 หรือ 10 ซึ่งโจทก์จะต้องลงวันสั่งจ่ายในเช็ควันที่ 27 มิถุนายน หรือกรกฎาคม 2523 แม้โจทก์จะเบิกความว่าต้องนำไปเรียกเก็บเงินเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2523 ก็ตามแต่การที่โจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 14 มกราคม 2525 จึงเป็นวันสั่งจ่ายที่ไม่ถูกต้องแท้จริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 410,484 และเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ถูกต้องแท้จริงในเช็คดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการไม่สุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1002 แล้ว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง