คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7131/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นคดีอาญาในข้อหายักยอก รับของโจร และความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 โดยขอให้ลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียวมิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่โจทก์จะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกทั้งตามบทบัญญัติมาตรา 4, 5, และ 6 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มิได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้ล้มละลายด้วย ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ได้
โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีเอง คดีอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นแยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แม้จำเลยที่ 4 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ต้องถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสิ้นผลไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นส่งคำร้องมาศาลฎีกาในขณะที่ฎีกาของจำเลยที่ 4 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ไปเสียเลยโดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่สำนวน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 352, 353, 354, 357 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41, 42 ต่อมา หลังจากยื่นฟ้องแล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุกสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุกสำนวนออกจากสารบบความ
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องทั้งสี่สำนวน ศาลชั้นต้นให้รวมการไต่สวนมูลฟ้องเข้าด้วยกัน
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง นายเลสลี่ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 21 ธันวาคม 2543 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทั้งสี่สำนวน ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องของนายเลสลี่ เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่มีความประสงค์ที่จะถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 หนังสือมอบอำนาจที่นายเลสลี่ ยื่นต่อศาลแนบท้ายคำร้องขอถอนฟ้องพร้อมคำแปลเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปโดยโจทก์มอบอำนาจให้นายเลสลี่ กระทำการในฐานะที่เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ในกิจการทั่วไปของบริษัทเท่านั้น โจทก์ไม่เคยมอบหมายให้นายเลสลี่ ดำเนินคดีหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีทั้งสี่สำนวนนี้ ทั้งก่อนที่นายเลสลี่ จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องนั้น โจทก์ได้แจ้งยกเลิกเพิกถอนการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปยังนายเลสลี่ แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2545 ซึ่งนายเลสลี่ ได้รับทราบถึงการยกเลิกเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้ว ดังนั้น นายเลสลี่ จึงไม่อยู่ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่จะกระทำการใด ๆ แทนโจทก์ และไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกระทำการใด ๆ ในนามของโจทก์ได้แต่ประการใดทั้งสิ้น ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2545 และมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีตามคำสั่งลงวันที่ 17 ธันวาคม 2545 (ในคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2545) ให้ศาลชั้นต้นยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทั้งสี่สำนวนขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์โดยนายประเสริฐ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ไม่คัดค้านการขอถอนฟ้อง รายละเอียดปรากฏตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องของจำเลยที่ 4 ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ซึ่งศาลชั้นต้นจัดส่งมาตามหนังสือของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า แม้ตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจะระบุว่า โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 และพิพากษาให้โจทก์ล้มละลาย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 แล้วก็ตาม แต่คดีทั้งสี่สำนวนนี้โจทก์เป็นนิติบุคคล ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นคดีอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดยักยอก รับของโจร และความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 โดยขอให้ลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียวมิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่โจทก์จะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีก ทั้งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 4, 5, และ 6 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็หาได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้ล้มละลายด้วยไม่ ดังนั้นโจทก์โดยนายประเสริฐ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีทั้งสี่สำนวนนี้โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเอง คดีอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทั้งสี่สำนวนขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แม้จำเลยที่ 4 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ต้องถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสิ้นผลไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นส่งคำร้องมาศาลฎีกาในขณะที่ฎีกาของจำเลยที่ 4 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ไปเสียเลย เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่คัดค้าน การถอนฟ้องจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ทั้งสี่สำนวนได้ กรณีจึงไม่มีประโยชน์จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 4 อีกต่อไป”
ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ

Share