คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขนส่งสินค้าพิพาทมีการออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ ระบุจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการส่งมอบและรับมอบสินค้า ได้มีการตกลงกันให้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งให้แก่โจทก์ผู้ขนส่งตั้งแต่ที่ต้นทางแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับตราส่งจึงอาจเรียกให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าได้เลยโดยไม่จำต้องรอให้มีใบตราส่งมาเวนคืนแก่โจทก์อีก ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงนามและประทับตราสำคัญในสำเนาใบตราส่ง กับมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกใบปล่อยสินค้า และทำสัญญาลากตู้สินค้า โดยตกลงกับโจทก์ที่จะรับภาระค่าเสียเวลา หากรับมอบตู้สินค้าแล้วนำตู้สินค้าออกไปจากท่าเรือ หรือนำตู้สินค้าส่งคืนโจทก์ล่าช้า นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้มอบหมายให้บริษัท จ. ดำเนินพิธีการศุลกากรและรับเอาตู้สินค้าหมายเลข PONU 4770535 ออกจากท่าเรือไป พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนของทางทะเล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าพิพาทจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลยที่ 1 จึงมีนิติสัมพันธ์ตามสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์
การปฏิเสธไม่รับสินค้าของจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะแสดงหลักฐานข้อมูลการควบคุมอุณหภูมิที่เป็นที่เชื่อถือได้เป็นการปฏิเสธโดยมีเหตุอันสมควร การที่จำเลยที่ 1 ได้พบความเสียหายดังกล่าวในระหว่างที่โจทก์แสดงเจตนาส่งมอบสินค้าและปฏิเสธยังไม่ยอมรับตู้สินค้าด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 487,184.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 466,205 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อเดือนธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าองุ่นสดจากบริษัทคิวเด่า วู้ คิแอง จำกัด ผู้ขายที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในราคา C&F ตกลงชำระค่าสินค้าเมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าโดยถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าทางทะเลมาส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชำระค่าระวางล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ต้นทางแล้ว มีเงื่อนไขการขนส่งแบบ CY/CY สินค้าถูกบรรจุอยู่ในตู้สินค้าแช่เย็น 2 ตู้ โดยมีการออกใบตราส่ง และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการส่งมอบและรับมอบสินค้าที่ปลายทาง ผู้ส่งของได้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งให้แก่ผู้ขนส่งตั้งแต่ที่ต้นทางสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอให้ออกใบปล่อยสินค้า โดยมีข้อความว่า “เนื่องด้วยบริษัทได้นำสินค้าองุ่นสดเข้ามาจำนวน 900 CASES โดยเรือ NANTA BHUM เข้ามา บริษัทมีความประสงค์ที่จะนำสินค้าออกจากท่าเรือ จึงทำจดหมายมาเพื่อขอรับ D/O เนื่องจากทางผู้ขายต่างประเทศได้ SURRENDERED OBL ไว้ที่ต้นทางแล้ว จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านได้โปรดออก D/O ให้กับบริษัทด้วย” จากนั้นจำเลยที่ 1 ทำสัญญาลากตู้สินค้ากับโจทก์มีข้อตกลงว่า “ผู้นำเข้าซึ่งได้รับตู้คอนเทนเนอร์จากบริษัทเรือจะรับผิดชอบทุกกรณีในการลากตู้ไปยังโรงงานจนกระทั่งได้ทำการส่งคืนให้แก่บริษัทเรือในสภาพปกติ ค่าภาระต่าง ๆ และหรือค่าลากที่เกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ไปยังโรงงานของพ่อค้าและส่งกลับไปยังสถานที่รับตู้คอนเทนเนอร์เป็นค่าภาระของพ่อค้าเช่นกัน พ่อค้ายินยอมที่จะจ่ายค่าเสียเวลาตู้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการออกของล่าช้า หรือนำตู้ส่งคืนล่าช้า” และมอบหมายให้บริษัทเจ. เอส. คัสทัมส์ เคลียรันซ์ จำกัด ดำเนินพิธีการศุลกากร ขณะที่บริษัทเจ. เอส. คัสทัมส์ เคลียรันซ์ จำกัด ดำเนินการเพื่อจะนำสินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพปรากฏว่าเมื่อเปิดตู้สินค้าตรวจสอบสินค้ากับเจ้าหน้าที่ศุลกากร สินค้าในตู้สินค้าหมายเลข PONU 4848192 เน่าเสียมีกลิ่นเหม็นออกมา ส่วนสินค้าในตู้สินค้าหมายเลข PONU 4770535 มีความเสียหายเล็กน้อย จำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมลากตู้สินค้าหมายเลข PONU 4848192 ออกจากท่าเรือ คงลากเฉพาะตู้สินค้าหมายเลข PONU 4770535 ออกจากท่าเรือไปเพียงตู้เดียว อีก 2 วันต่อมา จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือถึงโจทก์ว่า “ด้วยห้างฯ ได้มีสินค้ามากับเรือ NANTA BHUM เที่ยววันที่ 14-01-47 B/L NO.PONLDLC 1504933 เบอร์ตู้ PONU 4770535 PONU 4848192 ทางห้างฯ ขอดราฟท์ดูเนื่องจากสินค้าองุ่นได้เปิดตู้พบว่าองุ่นเกิดความเสียหายบางส่วนทางห้างฯ จึงขอทราบรายละเอียดของความเย็นเพื่อจะไปปรับปรุงว่าเกิดขึ้นจากจุดไหนเป็นที่สินค้าหรือว่าความเย็น ทางห้างฯ จะไม่ลากสินค้าออกมาก่อนจนกว่าทางบริษัท P&O NEDLLOYD จะให้ข้อมูลดราฟท์ความเย็น จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง” แต่โจทก์กลับไม่ได้ส่งข้อมูลแสดงการควบคุมอุณหภูมิของตู้สินค้าที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าดราฟท์ความเย็นนั้นให้จำเลยที่ 1 คงทำเพียงแต่ออกหนังสือรับรองด้วยตนเองว่า “โดยหนังสือฉบับนี้ขอรับรองว่าระดับอุณหภูมิของอากาศในตู้บรรทุกสินค้า เลขที่ พี.โอ.เอ็น.ยู 4770535 และพี.โอ.เอ็น.ยู 4848192 ถูกรักษาไว้ในระดับที่ลบหนึ่งองศาเซลเซียสและอยู่ในความควบคุมดูแลในระบบเป็นอย่างดี” จำเลยที่ 1 จึงปล่อยให้ตู้สินค้าหมายเลข PONU 4848192 ค้างอยู่ที่ท่าเรือ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกการซื้อสินค้ากับผู้ขายอ้างว่าผู้ขายส่งสินค้าไม่มีคุณภาพอันเป็นการผิดสัญญาขอปฏิเสธไม่รับสินค้าและยกเลิกการซื้อขายสินค้าในส่วนตู้สินค้าที่เสียหาย และขอให้นำสินค้ากลับคืนไป แต่ผู้ขายก็ไม่ได้มาขนสินค้าออกจากท่าเรือ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งโจทก์อีกครั้งหนึ่งเรื่องขอแจงเหตุผลที่ไม่ลากตู้ PONU 4848192 ว่า “ด้วยทางห้างฯ ได้มีสินค้ามากับเรือ NANTA BHUM เที่ยววันที่ 14-01-2547 บีแอลเลขที่ PONLDLCO 1504933 เบอร์ตู้ PONU 4848192 ทางห้างฯ ไม่ทำการลากตู้จนกว่าทางบริษัทฯ ของท่านต้องนำหลักฐานการควบคุมอุณหภูมิของตู้ให้กับทางห้างฯ ดูเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญทางห้างฯ ตรวจสอบดูว่าดราฟท์อุณหภูมิผิดปกติหรือไม่ จะได้ตัดสินใจในการลากตู้ทางห้างฯ เคยทำหนังสือชี้แจงไปยังบริษัทฯ ท่านแล้ว ระหว่างที่ตู้สินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพได้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นหลายรายการ ได้แก่ 1) ค่าเสียเวลาตู้สินค้าระหว่างวันที่ 18 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2547 รวม 10 วัน เป็นเงิน 19,200 บาท 2) ค่าเสียเวลาตู้สินค้าระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 รวม 113 วัน เป็นเงิน 348,605 บาท 3) ค่าไฟฟ้าระหว่างวันที่ 18 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 รวม 123 วัน เป็นเงิน 98,400 บาท ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 โจทก์ได้นำตู้สินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพ
มีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งสินค้าพิพาทมีการออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ตามเอกสารระบุจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการส่งมอบและรับมอบสินค้า ได้มีการตกลงกันให้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งให้แก่โจทก์ผู้ขนส่งตั้งแต่ที่ต้นทางแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับตราส่งจึงอาจเรียกให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าได้เลยโดยไม่จำต้องรอให้มีใบตราส่งมาเวนคืนแก่โจทก์อีก ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงนามและประทับตราสำคัญในสำเนาใบตราส่งกับมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกใบปล่อยสินค้า และทำสัญญาลากตู้สินค้า โดยตกลงกับโจทก์ที่จะรับภาระค่าเสียเวลา หากรับมอบตู้สินค้าแล้วนำตู้สินค้าออกไปจากท่าเรือหรือนำตู้สินค้าส่งคืนโจทก์ล่าช้า นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้มอบหมายให้บริษัทเจ. เอส. คัสทัมส์ เคลียรันซ์ จำกัด ดำเนินพิธีการศุลกากรและรับเอาตู้สินค้าหมายเลข PONU 4770535 ออกจากท่าเรือไป พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนของทางทะเล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าพิพาทจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลย 1 จึงมีนิติสัมพันธ์ตามสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์ ที่จำเลยทั้งสามแก้อุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสามยังไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมลากตู้สินค้าหมายเลข PONU 4848192 ออกจากท่าเรือกรุงเทพ เป็นการปฏิเสธโดยมีเหตุอันสมควรแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์แสดงเจตนาส่งมอบตู้สินค้าเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับมอบตู้สินค้านั้นไปตามเงื่อนไขการขนส่งแบบ CY/CY แต่ในขณะผู้ขนส่งแสดงเจตนาส่งมอบนั้น หากปรากฏชัดเจนว่าสินค้าองุ่นในตู้สินค้าแบบมีเครื่องปรับอากาศควบคุมความเย็นเน่าเสียและมีความเป็นไปได้ว่าสินค้านั้นอาจได้รับความเสียหายเพราะการควบคุมอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมระหว่างการขนส่ง ซึ่งตามปกติตู้สินค้าในลักษณะเช่นนี้ย่อมต้องมีระบบควบคุมอุณหภูมิพร้อมทั้งสิ่งที่จะแสดงข้อมูลการควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้อยู่แล้ว จึงย่อมไม่เป็นการยากที่โจทก์ผู้ขนส่งจะแสดงข้อมูลที่มีความเป็นกลางให้ทราบในเบื้องต้นเสียก่อนว่าตนเองได้ควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพและบริษัทเจ. เอส. คัสทัมส์ เคลียรันซ์ จำกัด ตัวแทนจำเลยที่ 1 กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเปิดตู้สินค้าแล้วพบว่าสินค้าในตู้สินค้าหมายเลข PONU 4848192 เน่าเสียมีกลิ่นเหม็นออกมาจึงลากเฉพาะตู้สินค้าหมายเลข PONU 4770535 ออกจากท่าเรือไปเพียงตู้เดียว และอีก 2 วันต่อมา จำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอทราบรายละเอียดของความเย็นพร้อมกับยืนยันว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ลากสินค้าออกมาก่อนจนกว่าทางโจทก์จะให้ข้อมูล แต่โจทก์กลับไม่ได้ส่งข้อมูลแสดงการควบคุมอุณหภูมิของตู้สินค้าให้จำเลยที่ 1 ทราบ คงทำเพียงแต่ออกหนังสือรับรองด้วยตนเองว่า ระดับอุณหภูมิของอากาศในตู้สินค้าถูกรักษาไว้ในระดับที่ลบหนึ่งองศาเซลเซียสและอยู่ในความควบคุมดูแลในระบบเป็นอย่างดี จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยังคงปล่อยให้ตู้สินค้าหมายเลข PONU 4848192 ค้างอยู่ที่ท่าเรือ และก็ปรากฏต่อมาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยจำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกการซื้อสินค้ากับผู้ขายอ้างว่า ผู้ขายส่งสินค้าไม่มีคุณภาพอันเป็นการผิดสัญญา ขอปฏิเสธไม่รับสินค้าและยกเลิกการซื้อขายสินค้าในส่วนตู้สินค้าที่เสียหาย และขอให้นำสินค้ากลับคืนไป แต่เมื่อผู้ขายไม่ได้มาขนสินค้าออกจากท่าเรือ จำเลยที่ 1 ก็ยังได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 จะไม่ทำการลากตู้สินค้าจนกว่าทางโจทก์นำหลักฐานการควบคุมอุณหภูมิของตู้สินค้าให้กับทางจำเลยที่ 1 ดูเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญทางจำเลยที่ 1 ตรวจสอบดูว่าอุณหภูมิผิดปกติหรือไม่ จะได้ตัดสินใจในการลากตู้สินค้าออกไป แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งหรือแสดงหลักฐานตารางการควบคุมอุณหภูมิเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้แต่อย่างใด การปฏิเสธไม่รับสินค้าของจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะแสดงหลักฐานข้อมูลการควบคุมอุณหภูมิที่เป็นที่เชื่อถือได้จึงเป็นการปฏิเสธโดยมีเหตุอันสมควร การที่จำเลยที่ 1 ได้พบความเสียหายดังกล่าวในระหว่างที่โจทก์แสดงเจตนาส่งมอบสินค้าและปฏิเสธยังไม่ยอมรับตู้สินค้าด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share