แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์นั้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้น มิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น
เมื่อพิจารณาตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมเปรียบเทียบกับภาพธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีตที่มีรูปช้างทรงเครื่องอยู่กลางธง ซึ่งมีมาช้านานแล้ว มีการตกแต่งเครื่องทรงตัวช้างที่คล้ายคลึงกัน แสดงว่างานที่โจทก์ร่วมอ้างว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนแบบมาจากรูปช้างทรงเครื่องที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่ปรากฏอยู่ในธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีต งานของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ร่วมได้ทำขึ้นโดยใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานของโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์
โจทก์ฟ้องจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรมาด้วย ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อที่โจทก์ร่วมอ้างมาในอุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 8, 15, 31, 70, 75, 76 ให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสมหมาย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ร่วมประกอบอาชีพค้าขาย ทำผ้าไหม ผ้าขิด และตุ๊กตา โดยจดทะเบียนพาณิชย์ใช้ชื่อประกอบการว่า “ภูเขียวหัตถกรรม” โจทก์ร่วมทำตุ๊กตารูปช้างจากผ้าไหมและผ้าฝ้าย จำเลยประกอบอาชีพค้าขายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของผ้าไหม ใช้ชื่อร้านค้าว่า ซิลค์ ออฟ สยาม โจทก์ร่วมไปซื้อสินค้าที่ร้านซิลค์ ออฟ สยาม โดยซื้อตุ๊กตารูปช้างซึ่งมีลักษณะคล้ายตุ๊กตารูปช้างที่โจทก์ร่วมผลิต 1 ตัว ในราคา 100 บาท ต่อมาโจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดตุ๊กตารูปช้างลักษณะคล้ายตุ๊กตารูปช้างที่โจทก์ร่วมผลิตได้อีก 6 ตัว เป็นของกลางและกล่าวหาจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วม โดยการเสนอขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งตุ๊กตารูปช้างซึ่งมีผู้ทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ตุ๊กตารูปช้างเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่า หมายความถึงผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีความหมายว่า การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์นั้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้น มิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น เมื่อพิจารณาตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมเปรียบเทียบกับภาพธงราชนาวีไทย และธงชาติไทยในอดีตที่มีรูปช้างทรงเครื่องอยู่กลางธง ซึ่งมีมาช้านานแล้วก็เห็นว่า มีการตกแต่งเครื่องทรงตัวช้างที่คล้ายคลึงกัน แสดงว่างานที่โจทก์ร่วมอ้างว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนแบบมาจากรูปช้างทรงเครื่องที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่ปรากฏอยู่ในธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีต งานของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ร่วมได้ทำขึ้นโดยใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานของโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมได้ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแล้วเห็นว่าตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมมีการคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ จึงรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โจทก์ร่วมจึงมีลิขสิทธิ์ในตุ๊กตารูปช้างอันเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ร่วม เห็นว่า การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์ เมื่อฟังว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้สร้างสรรค์ดังวินิจฉัยแล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่มีลิขสิทธิ์ในงานตุ๊กตารูปช้างตามที่กล่าวอ้าง สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่อ้างว่าโจทก์ร่วมได้ขอจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตุ๊กตารูปช้างและทางราชการได้ออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้โจทก์ร่วมแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรมาด้วย ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อที่โจทก์ร่วมอ้างมาในอุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนอกจากวินิจฉัยมาเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน