คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โครงเหล็กของบริษัท อ. ผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างทางรถไฟฟ้าธนายงจะยื่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถบางส่วนแต่ก็วางมานานแล้ว โจทก์ขับรถยนต์โดยสารผ่านที่เกิดเหตุอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ย่อมทราบดีว่าโครงเหล็กวางล้ำเข้ามาในช่องเดินรถ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 17 นาฬิกายังมีแสงสว่างเพียงพอที่จะมองเห็นโครงเหล็กได้อย่างชัดเจน การที่โจทก์ขับรถยนต์โดยสารเข้าไปชนโครงเหล็กจนทำให้รถยนต์โดยสารของจำเลยได้รับความเสียหายนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์อย่างร้ายแรงจำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438
ศาลแรงงานกลางมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัท อ. เป็นผู้ทำละเมิดต่อจำเลยและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีระเบียบบังคับให้จำเลยต้องฟ้องผู้ร่วมทำละเมิด อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายมีหน้าที่ต้องฟ้องผู้ร่วมทำละเมิดด้วย การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้เสียหายตัดค่าจ้างโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยนั้น จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่พนักงานขับรถสาย ปอ.2 กองเดินรถที่ 1 เขตการเดินรถปรับอากาศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน2542 จำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์เป็นเงิน 37 บาท และเดือนธันวาคม2542 มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2543 เดือนละ 600 บาท และจะหักต่อไปจนครบ 21,400 บาท โดยแจ้งยอดหนี้ว่าเกิดจากอุบัติเหตุเฉี่ยวชนโครงเหล็กก่อสร้างทางรถไฟฟ้าธนายง ทำให้รถยนต์โดยสารของจำเลยเสียหาย เหตุเกิดที่บริเวณสี่แยกปทุมวันโดยโจทก์ยังไม่ได้รับสภาพหนี้ อุบัติเหตุเกิดจากบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างทางรถไฟฟ้าธนายงวางสิ่งกีดขวางล้ำเข้ามาในช่องเดินรถโดยไม่ได้ให้สัญญาณตามกฎหมายซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อจำเลย จำเลยไม่ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ทั้ง ๆ ที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยเพิกเฉยเกิน 1 ปี ทำให้คดีขาดอายุความจำเลยประเมินความเสียหายสูงกว่าความเป็นจริง และจำเลยไม่พิจารณาขึ้นค่าจ้างประจำปีให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 อ้างเหตุว่าโจทก์ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งที่ 439/2541 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2541ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบของจำเลย ทำให้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ 22,804 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายวันละ 9 บาท ถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์

จำเลยให้การว่า การที่จำเลยหักเงินเดือนโจทก์ตามฟ้องเพราะเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2541 โจทก์ขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.2 หมายเลขทะเบียน 12-2569 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนเหล็กก่อสร้างเสารถไฟฟ้าข้างทางเป็นเหตุให้กระจกมองข้างด้านซ้ายแตกกระเด็นถูกระจกบังลมด้านหน้าและด้านข้างแตก โจทก์รับสารภาพยอมรับผิดโดยลงชื่อไว้ในรายงานอุบัติเหตุของจำเลยและโจทก์ได้ลงชื่อในใบเสนอราคาค่าซ่อมให้จำเลยไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อจำเลยซ่อมรถเสร็จจึงเรียกโจทก์มาลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้เพื่อหักเงินเดือนชดใช้ โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย จำเลยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริง และเห็นว่าอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ขับรถแล่นเข้าไปเฉี่ยวชนเหล็กก่อสร้างซึ่งเคลื่อนที่ไม่ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องขับรถยนต์โดยสารไปชิดขอบทางขนาดนั้น นอกจากนี้หลังเกิดเหตุโจทก์ยอมรับผิดโดยลงชื่อในรายงานอุบัติเหตุและใบเสนอราคาค่าซ่อมการกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2524)ว่าด้วยวินัยพนักงาน ข้อ 4.3 จึงให้ลงโทษตามข้อ 7.4 ตัดเงินผลประโยชน์100 บาท มีกำหนด 1 เดือน และให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าเลื่อนขั้นประจำปีเพราะเป็นอำนาจการบริหารงานฝ่ายนายจ้างซึ่งต้องพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลและฐานะการเงินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นพนักงานขับรถของจำเลยมีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารสาย ปอ.2 แล่นจากมีนบุรีไปสีลม เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2541 โจทก์ขับรถยนต์โดยสารจากสีลมมุ่งหน้าไปมีนบุรีมาถึงสี่แยกปทุมวันก็ชนกับโครงเหล็กที่วางล้ำขอบถนนเข้ามาในช่องเดินรถโดยไม่ได้ติดตั้งเครื่องหมายจราจรใด ๆโจทก์ยอมรับผิด จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิด จำเลยจึงออกคำสั่งให้ตัดค่าจ้างโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 100 บาท มีกำหนด 1 เดือน โจทก์ขับรถยนต์โดยสารไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนโครงเหล็กซึ่งตั้งอยู่บนทางเท้าเมื่อเวลา17 นาฬิกา ซึ่งยังมีแสงสว่างเพียงพอที่จะเห็นโครงเหล็กได้อย่างชัดเจนแม้โครงเหล็กนั้นจะยื่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถบางส่วนแต่ก็วางมานานแล้วโจทก์ขับรถยนต์โดยสารผ่านที่เกิดเหตุอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ย่อมทราบดีว่ามีโครงเหล็กวางล้ำเข้ามาในช่องเดินรถ การที่โจทก์ขับรถยนต์โดยสารเข้าไปชนโครงเหล็กจนทำให้รถยนต์โดยสารของจำเลยได้รับความเสียหายนั้นถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การที่จำเลยสอบสวนโจทก์และมีคำสั่งลงโทษโจทก์ชอบแล้ว ส่วนการขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่เป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะพิจารณาตามระเบียบของจำเลย การที่จำเลยไม่ขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยออกคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า บริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างทางรถไฟฟ้าธนายงวางโครงเหล็กกีดขวางล้ำเข้ามาในช่องเดินรถโดยไม่มีเครื่องหมายควบคุมการจราจร ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้น บริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ทำละเมิด จำเลยมีหน้าที่ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยก็มิได้ฟ้อง กลับมาลงโทษให้โจทก์รับผิดในค่าเสียหายเพียงผู้เดียวนั้นไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า แม้โครงเหล็กจะยื่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถบางส่วนแต่ก็วางมานานแล้ว โจทก์ขับรถยนต์โดยสารผ่านที่เกิดเหตุอย่างน้อยวันละ2 ครั้ง ย่อมทราบดีว่าโครงเหล็กวางล้ำเข้ามาในช่องเดินรถ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 17 นาฬิกา ยังมีแสงสว่างเพียงพอที่จะมองเห็นโครงเหล็กได้อย่างชัดเจน การที่โจทก์ขับรถยนต์โดยสารเข้าไปชนโครงเหล็กจนทำให้รถยนต์โดยสารของจำเลยได้รับความเสียหายนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์อย่างร้ายแรง เห็นว่า เมื่อโจทก์กระทำละเมิดทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438คดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำละเมิดต่อจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีระเบียบบังคับให้จำเลยต้องฟ้องผู้ร่วมทำละเมิดอีกทั้งไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายมีหน้าที่ต้องฟ้องผู้ร่วมทำละเมิดด้วย การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้เสียหายตัดค่าจ้างของโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยนั้นชอบแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share