คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงให้แก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และทำบันทึกต่อท้ายสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงว่า หากจำเลยได้ขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว จำเลยจะแบ่งผลประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ได้รับจากการขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ เป็นกรณีที่เห็นได้ว่าค่าตอบแทนจำนวน 200,000 บาท ที่ระบุในสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้น น้อยเกินไป แต่ขณะเดียวกันจำเลยผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นก็ไม่ต้องการจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่านี้ในขณะทำสัญญา จึงเลือกให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงดังกล่าวในอนาคต ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยตกลงทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นอันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ฉะนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยเจตนาลวงของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยซึ่งมีเจตนาจะอำพรางสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง แต่เป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์อีกต่อไป แต่คงมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ ให้ลิขสิทธิ์ในงานเพลงกลับมาเป็นของโจทก์ทั้งห้า และมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยนำเพลงดังกล่าวออกขายหรือให้บุคคลภายนอกเช่า กับขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 188,698.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้าโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งห้าชนะคดี ส่วนคำขอของโจทก์ทั้งห้านอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายจำนงค์ทุกคนได้ทำสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมบทประพันธ์เพลงทั้งทำนองและคำร้องจำนวน 229 เพลง ซึ่งนายจำนงค์เป็นผู้สร้างสรรค์ไว้ให้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และในขณะเดียวกันโจทก์ที่ 1 กับจำเลยก็ได้ทำบันทึกท้ายสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยขอยืนยันว่าหากจำเลยได้ขายหรือให้เช่าลิขสิทธิ์เพลงของนายจำนงค์ จำเลยจะแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่ได้รับจากการขายหรือให้เช่า และต้องแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบการขายและการให้เช่านั้นด้วย แต่โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวไปขายหรือให้เช่าแก่ผู้อื่นอีก เพราะลิขสิทธิ์เป็นของจำเลยแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าว่า สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงทั้งทำนองและคำร้องจำนวน 229 เพลง ซึ่งนายจำนงค์เป็นผู้สร้างสรรค์ระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงและบันทึกแนบท้ายสัญญาได้ทำขึ้นโดยเจตนาลวงของโจทก์ทั้งห้าและจำเลยหรือไม่ และโจทก์ทั้งห้ายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ เป็นกรณีที่เห็นได้ว่าค่าตอบแทนจำนวน 200,000 บาท ที่ระบุในสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวนถึง 229 เพลง นั้น น้อยเกินไป แต่ขณะเดียวกันจำเลยผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นก็ไม่ต้องการจะจ่ายค่าตอบแทนจำนวนสูงกว่านี้ในขณะทำสัญญา จำเลยจึงเลือกให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงดังกล่าวในอนาคต ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยตกลงทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นอันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 แต่อย่างใด ส่วนที่นายประจวบบอกโจทก์ที่ 1 ในขณะทำสัญญาว่าลิขสิทธิ์ยังเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่ หากจำเลยไม่จ่ายค่าผลประโยชน์ โจทก์ก็เอาลิขสิทธิ์คืนมาได้นั้น ความดังกล่าวมิได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ จึงเป็นเพียงความเห็นของนายประจวบ ย่อมไม่มีผลหักล้างข้อความในสัญญานั้นได้ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 เบิกความว่าเหตุที่ไม่ได้ยกเลิกสัญญาซื้อขายก็เพื่อความสะดวกที่จำเลยจะนำเพลงไปขายเพราะมิฉะนั้นทายาทต้องลงชื่อในการทำสัญญาขายทุกครั้งนั้น เห็นว่า หากเป็นเรื่องหุ้นส่วนกันจริง ก็อาจให้ทายาททุกคนทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปขายได้โดยไม่ต้องทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงอำพรางสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนไว้ดังที่โจทก์ทั้งห้านำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้าขัดต่อเหตุผล มีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงและบันทึกแนบท้ายสัญญา เป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดในงานดนตรีกรรมเพลงทั้งทำนองและคำร้องจำนวน 229 เพลง ซึ่งนายจำนงค์เป็นผู้สร้างสรรค์ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมนั้น ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 15 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญาดังกล่าว สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 13 ย่อมตกเป็นของจำเลยผู้รับโอน โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมนั้นต่อไป โจทก์ทั้งห้าคงมีสิทธิได้รับแบ่งผลประโยชน์จากจำเลยและตามบันทึกแนบท้ายสัญญาเท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 241,698.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยให้เป็นพับ.

Share