แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 193/33 และมาตรา 193/34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะเป็นอายุความเรียกร้องเงินเดือนเหมือนกัน แต่มาตรา 193/34 (9) เป็นกรณีที่ลูกจ้างเรียกเอาเงินที่ได้จากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจากนายจ้าง หรือนายจ้างเรียกเอาเงินที่นายจ้างออกทดรองไปคืนจากลูกจ้าง ส่วนมาตรา 193/33 (4) นั้นเป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักอันเป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) มิใช่ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำงานในหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 59,500 บาท โดยเป็นเงินเดือน 47,500 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก 12,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ระหว่างทำงานจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท คงค้างเดือนละ 7,000 บาท ตลอดมา นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 58 เดือน เป็นเงิน 406,000 บาท โจทก์ทวงถามแบ้ว แต่จำเลยไม่จ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก จำนวน 406,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งมีอายุความ 2 ปี โจทก์ใช้สิทธิเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค้างจ่ายจำนวน 168,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2546 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับตรวจสอบให้การรับรองระบบบริหารคุณภาพและบริหารจัดการต่างๆ โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพได้ค่าจ้างเดือนละ 47,500 บาท ระหว่างทำงานจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้โจทก์เดือนละ 5,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ทำงานกับจำเลยตลอดมา โดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านนั้นเป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับค่าจ้างในส่วนนี้จากเดือนละ 12,000 บาท เป็นเดือนละ 5,000 บาท เห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้แก่โจทก์เดือนละ 12,000 บาท เป็นการจ่ายเงินเดือนที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาแน่นอน โจทก์สามารถฟ้องเรียกเงินดังกล่าวได้ภายในอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) มิใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา” มาตรา 193/34 (9) บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงานเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป” เห็นว่า บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว แม้จะเป็นอายุความเรียกร้องเงินเดือนเหมือนกัน แต่มาตรา 193/34 (9) เป็นกรณีที่ลูกจ้างเรียกเอาเงินที่ได้จากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจากนายจ้าง หรือนายจ้างเรียกเอาเงินที่นายจ้างออกทดรองไปคืนจากลูกจ้าง ส่วนมาตรา 193/33 (4) นั้น เป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา คดีนี้โจทก์เป็นลูกจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พัก อันเป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) มิใช่มาตรา 193/33 (4) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน