แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์กับจำเลยจะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมและสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงก่อนหน้านี้ไม่ยอมออกไปจากที่พิพาทนั้นย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยโดยการยื่นคำฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 ซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์ร่วมยินยอมเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามที่โจทก์มีคำขอแล้ว ก็ย่อมมีผลทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินริมทางรถไฟบริเวณสถานีรถไฟแปดริ้วเดิมรวมเนื้อที่ 63,891 ตารางเมตร เพื่อปลูกสร้างอาคาร จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 206/12, 206/1/1-2 ซึ่ง โจทก์ประสงค์จะใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว จึงแจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดิน แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 206/12, 206/1/1-2 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารของจำเลยออกจากที่ดินโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินและห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 206/12, 206/1/1-2 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และส่งมอบที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541) เป็นต้น จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์กับจำเลยจะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันแต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่ได้เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมและสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงก่อนหน้านี้ไม่ยอมออกไปจากที่พิพาทนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยโดยการยื่นคำฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และ 549 ซึ่งคดีนี้โจทก์ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ดังที่จำเลยฎีกา เมื่อโจทก์ร่วมยินยอมเข้าเป็นโจทก์ตามที่โจทก์มีคำขอแล้ว ก็ย่อมมีผลทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน