แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองวางแผนลวงโจทก์ร่วมไปในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อโจทก์ร่วมลงมาจากรถและร้องบอกจำเลยที่ 2 ว่ามาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเดินออกมาจากข้างทาง เมื่อโจทก์ร่วมปฏิเสธไม่ยอมถอดเสื้อผ้าตามคำสั่ง จึงถูกจำเลยที่ 1 ต่อยท้องและใบหน้าหลายครั้งจนล้มคว่ำ จำเลยที่ 2 ร้องบอกว่า “เอามันให้สลบก่อน” จากนั้นจำเลยทั้งสองจึงรุมเตะทำร้ายโจทก์ร่วมจนกระทั่งสิ้นสติไป จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้หมัดและเท้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหรือเลือกทำร้ายโจทก์ร่วมตรงบริเวณที่เป็นอวัยวะสำคัญอันอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งที่มีกำลังคนและแรงกายภาพเหนือกว่าอยู่ในทำเลปลอดคน กับมีเวลาและโอกาสที่จะเลือกกระทำแก่โจทก์ร่วมได้ตามอำเภอใจ บาดแผลที่โจทก์ร่วมถูกทำร้ายไม่ร้ายแรงจนทำให้ถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 298
หลังจากจำเลยทั้งสองรุมทำร้ายจนโจทก์ร่วมสลบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงกระชากสร้อยคอของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเมื่อแรกวางแผนลวงโจทก์ร่วมมายังที่เกิดเหตุจนกระทั่งรุมทำร้ายโจทก์ร่วมสลบนั้น จำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาจะเอาทรัยพ์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากหยุดทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเกิดเจตนาโลภปลดทรัพย์ของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แล้วพากันหลบหนี เจตนาต่อทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส บาดแผลของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการมีเจตนาต่อทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะใช้แรงกายภาพกระชากสร้อยไปจากคอโจทก์ร่วม แต่สร้อยคอและสร้อยข้อมือของโจทก์ร่วมเป็นสร้อยเส้นเล็กจึงค่อนข้างขาดง่าย สภาพบาดแผลที่คอโจทก์ร่วมไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการถูกสร้อยบาดตามแรงกระชากที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อทรัพย์ปรากฏให้เห็น แสดงว่าแรงกายภาพที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นไม่ถึงกับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วม สภาพเช่นนี้ไม่พอให้ถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่กายของโจทก์ร่วมตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน
จำเลยที่ 1 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะไปลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายในที่เกิดเหตุ แม้โจทก์ร่วมจะหลงกลจนถูกทำร้ายและลักทรัพย์ โดยจำเลยทั้งสองพาทรัพย์ขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไป รถจักรยานยนต์ก็เป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองตั้งใจใช้เพื่อการลวงทำร้ายโจทก์ร่วมโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่เพื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เกิดในภายหลังด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดอันเป็นเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสกับความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนดังกล่าวล้วนแต่เป็นการกระทำที่เกิดต่อเนื่อง และต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องโดยแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้ด้วย แต่ปัญหาทุกข้อดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีตาม ป.อ. มาตรา 89 ซึ่งกำหนดให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 297, 298, 276, 278, 339, 340 ตรี, 80, 83, 91, 33 ริบท่อน้ำพลาสติกแข็งของกลาง คืนเสื้อเชิ้ตแขนสั้น เสื้อชั้นในสีขาว กางเกงในชายแก่เจ้าของให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 992/2541 และคดีหมายเลขดำที่ 180/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ก. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต โดยได้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 992/2541 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ริบท่อน้ำพลาสติกแข็งของกลาง ส่วนเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว เสื้อชั้นในสีขาว และกางเกงในชายนั้นให้คืนแก่เจ้าของ ยกข้อหาและคำขออื่น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298, 339 วรรคสอง, 340 ตรี การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่คำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษในความผิดส่วนนี้เพียงกระทงเดียว จึงให้ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุกคนละ 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวางแผนลวงโจทก์ร่วมไปในที่เกิดเหตุ แล้วรุมทำร้ายร่างกาย ชกต่อย เตะโจทก์ร่วมจนสิ้นสติและได้รับอันตรายสาหัสกรามหักทั้งสองข้างตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ที่นายแพทย์ธัญญะบันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.16 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 กระชากสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำปลดทรัพย์โจทก์ร่วมตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.13 ส่งให้จำเลยที่ 1 แล้วพากันหลบหนี ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และปล้นทรัพย์ (ที่ถูกเป็นชิงทรัพย์จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส) หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า จอดรถแล้วจำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อโจทก์ร่วมลงมาจากรถ ตบหน้าโจทก์ร่วมพร้อมกับถามว่า “มึงเจ๋งนักหรือ” แล้วต่อยท้องโจทก์ร่วมและร้องบอกจำเลยที่ 2 ว่า “ต้น มาแล้วโว๊ย” จำเลยที่ 2 จึงเดินออกมาจากข้างทาง เมื่อโจทก์ร่วมปฏิเสธไม่ยอมถอดเสื้อผ้าตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงถูกจำเลยที่ 1 ต่อยท้องและใบหน้าหลายครั้งจนล้มคว่ำ โจทก์ร่วมพยายามพลิกกายลุกขึ้น จำเลยที่ 2 ร้องบอกว่า “เอามันให้สลบก่อน” จากนั้นจำเลยทั้งสองจึงรุมเตะทำร้ายโจทก์ร่วมจนกระทั่งโจทก์ร่วมสิ้นสติไป พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเท่าที่ได้ความจากคำโจทก์ร่วมดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้หมัดและเท้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมอย่างหนักหน่วงเต็มตามกำลังความโกรธแค้น จนโจทก์ร่วมสลบคามือ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธ หรือเลือกทำร้ายโจทก์ร่วมตรงบริเวณที่เป็นอวัยวะสำคัญอันอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งที่มีกำลังคนและแรงกายภาพเหนือกว่าอยู่ในทำเลปลอดคนกับมีเวลาและโอกาสที่จะเลือกกระทำแก่โจทก์ร่วมได้ตามอำเภอใจ บาดแผลของโจทก์ร่วมตามคำเบิกความของนายแพทย์ธัญญะประกอบผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.16 ก็ปรากฏเฉพาะอาการบวมช้ำที่ใบหน้า คอ อก ขาขวา แขนขวา และกรามหัก ซึ่งพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้เบิกความยืนยันว่าบาดแผลที่โจทก์ร่วมถูกทำร้ายไม่ร้ายแรงจนทำให้ถึงแก่ความตายได้ บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมให้สาสมกับความโกรธแค้นเท่านั้น ไม่มีพฤติการณ์อื่นใดส่อให้เห็นว่าประสงค์ต่อชีวิตของโจทก์ร่วมดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนท่อน้ำพลาสติกแข็งของกลางที่เปื้อนเลือด โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองใช้ในการทำร้ายโจทก์ร่วมอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ลักษณะบาดแผลของโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.16 ก็ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นว่าเกิดจากการถูกตีด้วยของแข็งขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากเช่นนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนได้รับอันตรายสาหัสนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยทั้งสองเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมสำเร็จสมตามเจตนาแล้ว การเอาทรัพย์ไปจึงเป็นเพียงลักทรัพย์มิใช่ชิงทรัพย์นั้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้ความจากบันทึกให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.20 ที่โจทก์อ้างส่งประกอบคำเบิกความของพันตำรวจตรียุทธนาพนักงานสอบสวนว่าหลังจากจำเลยทั้งสองรุมทำร้ายจนโจทก์ร่วมสลบแล้ว จำเลยที่ 1 เตือนให้จำเลยที่ 2 หยุดทำร้ายเพราะเกรงว่าโจทก์ร่วมจะตาย เมื่อจำเลยที่ 1 จะผละไปที่รถจักรยานยนต์จำเลยที่ 2 จึงกระชากสร้อยคอปลดทรัพย์ของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าเมื่อแรกวางแผนลวงโจทก์ร่วมมายังที่เกิดเหตุจนกระทั่งรุมทำร้ายโจทก์ร่วมสลบนั้นจำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาจะเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากหยุดทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเกิดโลภ เจตนาถือโอกาสที่โจทก์ร่วมสิ้นสติปลดทรัพย์ของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แล้วพากันหลบหนี เจตนาต่อทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากกับการลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส บาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.16 จึงมิได้เกิดจากการมีเจตนาต่อทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะใช้แรงกายภาพกระชากสร้อยไปจากคอโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.13 ปรากฏชัดเจนว่าทั้งสร้อยและสร้อยข้อมือของโจทก์ร่วม เป็นสร้อยเส้นเล็ก หนักเพียงเส้นละหนึ่งสลึง โดยสภาพจึงค่อนข้างขาดง่าย และมักไม่แข็งแรงทนทาน เมื่อพิจารณาประกอบสภาพบาดแผลที่คอโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งปรากฏแต่เฉพาะอาการบวม ช้ำ ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการถูกสร้อยบาดตามแรงกระชากที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อทรัพย์ปรากฏให้เห็น แสดงว่าแรงกายภาพที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วม สภาพเช่นนี้ไม่พอให้ถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่กายของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (6) คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา การกระทำของจำเลยทั้งสองในขั้นตอนนี้คงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ความปรากฏตัวว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะไปลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายในที่เกิดเหตุ แม้โจทก์ร่วมจะหลงกลจนถูกทำร้ายและลักทรัพย์ดังที่วินิจฉัยมาหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองพาทรัพย์ขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไป รถจักรยานยนต์ก็เป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองตั้งใจใช้เพื่อการลวงทำร้ายโจทก์ร่วมโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่เพื่อกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เกิดในภายหลังด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดอันเป็นเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 340 ตรี ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาในข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสกับความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนดังกล่าว ล้วนแต่เป็นการกระทำที่เกิดต่อเนื่อง และต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง โดยแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้ด้วย แต่ปัญหาทุกข้อดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89 ซึ่งกำหนดให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298, 335 (1) (7) วรรคสอง การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกคนละ 8 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุกคนละ 2 ปี รวมเป็นจำคุกคนละ 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์