คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 29 ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เว้นแต่การออกจากงานเพราะเหตุที่ระบุไว้ เช่นเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มีระยะเวลาทำงานถึงกำหนดที่กล่าวแล้ว และกรณีผู้ปฏิบัติงานตาย จำเลยก็ยังต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จเมื่อถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออกตามข้อบังคับของจำเลยและทายาทไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จถ้าผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตายเพราะกระทำผิดอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยซึ่งถ้าไม่ตายเสียก่อนจะถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออก ดังนี้ เงินบำเหน็จเป็นเงินที่มีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ข้อ 46, 47 และเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างมิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ในข้อ 11 วรรคแรกว่า “การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” เมื่อข้อบังคับดังกล่าวออกโดยอาศัยความในมาตรา 18 (8)แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509แต่บทบัญญัติดังกล่าวเพียงให้คณะกรรมการมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์ ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นการเป็นผู้จัดการพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารและครอบครัวของบุคคลดังกล่าวหาได้ให้อำนาจกำหนดให้เงินตามข้อบังคับที่ออกเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานด้วยไม่ ข้อบังคับของจำเลย ข้อ 11 วรรคแรกจึงไม่มีผลให้เงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินประเภทอื่นกลายเป็นค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ ๘,๒๑๐ บาท เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเหตุเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๔๙,๒๖๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จ ๒๑๓,๔๖๐ บาท ให้แก่โจทก์ไปแล้ว ตามข้อบังคับของจำเลยให้ถือเป็นค่าชดเชยด้วย ทั้งเงินบำเหน็จดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นพิจารณาโจทก์รับว่าได้รับบำเหน็จไปแล้วตามจำนวนที่จำเลยให้การแต่เป็นคนละส่วนกับค่าชดเชย จำเลยส่งข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๒๙ว่าด้วยเงินบำเหน็จลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๑ ต่อศาล โจทก์รับรองความมีอยู่และความถูกต้อง แล้วโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องซ้ำอีก ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ ๒๙ ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป เว้นแต่การออกจากงานเพราะเหตุที่ระบุไว้ เช่น เจ็บป่วยไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ผู้ที่ลาออกจากงานก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จหากมีระยะเวลาทำงานถึงกำหนดที่กล่าวแล้ว และกรณีผู้ปฏิบัติงานตาย จำเลยก็ยังต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จเมื่อถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออกตามข้อบังคับของจำเลยและทายาทจะไม่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จถ้าผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตายเพราะกระทำผิดอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ซึ่งถ้าไม่ตายเสียก่อนจะถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออกดังนี้ เห็นว่าเงินบำเหน็จเป็นเงินที่มีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖, ๔๗ และเห็นได้ว่าจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จสำหรับตอบแทนความชอบของผู้ปฏิบัติงานมาจนออกจากงาน หรือตายโดยไม่มีความผิด ทั้งเป็นการทำงานมานานหรือมีเหตุควรสงเคราะห์เพื่อเป็นกำลังใจและให้ความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเพื่อเลิกจ้างเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้ข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ในข้อ ๑๑ วรรคแรกว่า “การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” และข้อบังคับนี้ได้ออกโดยอาศัยความในมาตรา ๑๘(๘) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ก็ตาม แต่บทบัญญัติ มาตรา ๑๘(๘)ดังกล่าว เพียงให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้จัดการพนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว หาได้ให้อำนาจกำหนดให้เงินตามข้อบังคับที่ออกเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานไม่ ข้อบังคับของจำเลยข้อ ๑๑ วรรคแรก จึงไม่มีผลให้เงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินประเภทอื่นกลายเป็นค่าชดเชย ส่วนข้อบังคับของจำเลยข้อ ๑๑ วรรคสองซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีเงินบำเหน็จที่จ่ายตามข้อบังคับนี้มีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยที่ผู้ปฏิบัติงานหรือทายาทมีสิทธิจะได้ตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ให้ธนาคารจ่ายเพิ่มจนครบจำนวนเท่ากับเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” นั้น ไม่เกี่ยวกับกรณีคดีนี้ กรณีคดีนี้เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายตามข้อบังคับสูงกว่าค่าชดเชย เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์จึงเป็นเงินบำเหน็จอย่างเดียว จำเลยยังหาได้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินบำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ทำงานมาแล้วเกินกว่า ๓ ปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๔๙,๒๖๐ บาท ให้แก่โจทก์

Share