แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ใช้สำหรับพิจารณาว่า คุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ มิได้ยกเว้นไว้ว่าไม่ให้ถือเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศดังกล่าว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46กำหนดบทนิยามคำว่า “การเลิกจ้าง” ไว้ และได้ระบุเจาะจงลงไปด้วยว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้” แสดงว่าให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศนี้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นด้วย การแปลคำว่า “เลิกจ้าง” ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา31 จึงไม่จำต้องพลอยแปลตามข้อ 46 ด้วย
(การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ(ฉบับที่6) กลับไปใช้ข้อความตาม (ฉบับที่ 2) โดยไม่มีข้อความให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยดังเช่น (ฉบับที่ 5) นั้นอาจเป็นเพราะเห็นบทนิยามคำว่า “การเลิกจ้าง” ตามที่เคยใช้อยู่นั้น ครอบคลุมถึงกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้ เพราะมิได้ระบุยกเว้นไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
นายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยขึ้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
แม้นายจ้างจะได้กำหนดเป็นข้อตกลงซึ่งลูกจ้างทราบดีแล้วตั้งแต่สมัครเข้าทำงานว่า เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็จะให้พ้นจากตำแหน่งไป ก็ถือไม่ได้ว่ามีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว เพราะเป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติลูกจ้างเป็นการทั่วไป
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46และข้อ 47 ไม่ปรากฏชัดว่ามีเจตนารมณ์ในการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และยังไม่มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างจึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีกเมื่อจำเลยมิได้จ่ายให้ตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ จึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์แต่ละสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุ แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่ชำระเงินเสร็จ
จำเลยแต่ละสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะเมื่อโจทก์อายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ย่อมขาดคุณสมบัติพนักงานตามระเบียบของจำเลยเป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ คำสั่งของจำเลยกำหนดให้พนักงานที่ครบเกษียณอายุไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย การที่ระเบียบของจำเลยกำหนดเป็นข้อตกลงไว้ว่าเมื่อพนักงานมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ย่อมพ้นจากตำแหน่งไปนั้นถือได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากค่าชดเชยเพราะโจทก์ไม่เคยทวงถาม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่ละสำนวน พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติในระดับมาตรฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุ จะเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๖ และ ๔๗ เมื่อประกาศนี้มิได้ยกเว้นไว้เป็นพิเศษว่าการให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุไม่ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว เพียงแต่การที่รัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งปวงให้อยู่ในระเบียบอันเดียวกันในรูปของกฎหมายนั้น หามีผลเป็นข้อยกเว้นไปในตัวสำหรับบทนิยามของคำว่า “การเลิกจ้าง” ตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดไว้ในข้อ ๔๖ ให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้าง และได้กำหนดบทนิยามไว้ในข้อ ๔๖ นี้เองว่า “การเลิกจ้าง” หมายความว่าอย่างไรโดยได้ระบุเจาะจงลงไปด้วยว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้” แสดงว่าบทนิยามคำว่า”การเลิกจ้าง” ในข้อ ๔๖ นี้ให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศดังกล่าวเท่านั้นมิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น การแปลคำว่า”เลิกจ้าง” ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ จึงไม่จำต้องพลอยแปลตามข้อ ๔๖ นี้ด้วย
การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๕)ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ข้อ ๒ (ซึ่งแก้ไขข้อ ๔๖ เดิม) ให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยแต่ต่อมาประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๖)ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ไม่มีข้อความดัง (ฉบับที่ ๕) โดยกลับไปใช้ข้อความดังที่เคยใช้อยู่ตาม (ฉบับที่ ๒) นั้น อาจเป็นเพราะเห็นว่าบทนิยามคำว่า “การเลิกจ้าง” ตามที่เคยใช้อยู่นั้นครอบคลุมถึงกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้ เพราะมิได้ระบุยกเว้นไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ และ ๔๗ นั้น เป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้น นายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยขึ้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศดังกล่าวอันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
ถึงหากจะฟังว่าโจทก์ทราบระเบียบของจำเลยว่า เมื่อมีอายุครบ๖๐ ปีบริบูรณ์ ก็จะพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่สมัครเข้าทำงาน ระเบียบดังกล่าวก็เป็นแต่เรื่องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการทั่วไปว่าลูกจ้างจะต้องมีอายุไม่เกินเท่าใด ถ้าเกินจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป หาใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นข้อผูกพันกันว่าจะจ้างหรือรับจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าได้มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดบทนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” แต่เพียงว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะดูข้อ ๔๖และข้อ ๔๗ ประกอบด้วยก็ยังไม่ปรากฏชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และยังไม่มีกฎหมายใด ๆ บัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๖๔
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้ว โดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีก เมื่อจำเลยมิได้จ่ายให้ตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย
พิพากษายืน