คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีละเมิดที่เป็นเหตุให้เศร้าโศกเสียใจและผิดหวังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติไว้ให้เรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้จะเป็นบิดาตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม (อ้างฎีกาที่ 789/2512)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535 บุตรนั้นหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
เมื่อปรากฏว่าโจทก์และโจทก์ร่วมจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2508 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงมีผลตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2508 หาใช่มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2507 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีไม่ ฉะนั้น ในขณะฟ้องผู้ตายจึงยังเป็นบุตรนอกสมรสของโจทก์อยู่ โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจึงไม่มีสิทธิฟ้องบุคคลที่กระทำละเมิดต่อบุตรนอกสมรสของตน (อ้างฎีกาที่ 1285/2508)
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นทายาทผู้รับมรดกจากเด็กชาย ธ. ผู้ตายแต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายแล้วอำนาจฟ้องของโจทก์ก็ไม่มีคำร้องของ ค. มารดาของเด็กชาย ธ. ที่ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นอันตกไป (ปัญหาข้อนี้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2514)
ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรค 1หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิด ทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา 1649 เท่านั้น มิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย (อ้างฎีกาที่ 1314/2505)
โจทก์ร่วมแม้จะเป็นมารดาของผู้ตาย แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นสิทธิโจทก์ร่วมก็ไม่ดีกว่าโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายได้
สำหรับจำเลยที่ 1 ลูกจ้าง ซึ่งแม้มิได้ฎีกาก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนายจ้างซึ่งต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ฉะนั้น อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และมาตรา 247 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยตลอดถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยสารด้วยความประมาท รถทับเด็กชายธนะบุตรโจทก์ถึงแก่กรรม อันเป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้าง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๖๔,๕๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การสู้คดีในระหว่างสืบพยานจำเลยที่ ๒ นางเครือวัลย์ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นมารดาของเด็กชายธนะผู้ตาย ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ภายหลังที่เด็กชายธนะถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม ๓๔,๕๗๒ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ ๒ ร่วมใช้ค่าปลงศพให้โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเงิน ๑๔,๕๗๒ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ ๒ ต่างฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีละเมิดที่เป็นเหตุให้เศร้าโศกเสียใจและผิดหวังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติไว้ให้เรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้จะเป็นบิดาตามกฎหมายก็ตาม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๘๙/๒๕๐๒ แม้จะเป็นบิดาตามกฎหมายก็ไม่อาจเรียกค่าเศร้าโศกเสียใจได้อยู่แล้ว โจทก์ในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นบิดาตามกฎหมายจึงไม่มีทางจะเรียกค่าเศร้าโศกเสียใจได้เลย
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับการอุปการะทดแทนจากผู้ตายเพราะโจทก์อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตลอดมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๕ หมายถึงบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาเมื่อโจทก์เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๐ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล (๑) ถ้าบิดามารดาสมรสกันภายหลัง ให้มีผลนับแต่วันสมรส เมื่อปรากฏว่าโจทก์และโจทก์ร่วมจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายธนะ ศรคุปต์ จึงมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ หาใช่มีผลตั้งแต่วันฟ้องคดีนี้คือ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ ไม่ ฉะนั้น ในขณะฟ้องผู้ตายจึงยังเป็นบุตรนอกสมรสของโจทก์อยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบุคคลที่กระทำละเมิดต่อบุตรนอกสมรสของตน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๕/๒๕๐๘
ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่า คดีนี้นางเครือวัลย์มารดาผู้ตายได้ร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ซึ่งศาลก็อนุญาตแล้ว โจทก์ร่วมย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้นั้น ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นทายาทผู้รับมรดกจากเด็กชายธนะผู้ตาย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเมื่อฟ้องเดิมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเสียแล้ว คำร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมของผู้ร้องจึงเป็นอันตกไป
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา ๔๔๓ วรรค ๑ หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา ๑๖๔๙ เท่านั้น มิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๑๔/๒๕๐๕ สำหรับโจทก์ร่วมนั้นแม้จะเป็นมารดาของผู้ตายแต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นสิทธิโจทก์ร่วมก็ไม่ดีไปกว่าโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายได้
สำหรับจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างซึ่งแม้มิได้ฎีกาก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ว่าเป็นนายจ้าง ซึ่งต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ฉะนั้น อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕ (๑) และ มาตรา ๒๔๗ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยตลอดถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์

Share