คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 87/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ระบุในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่และเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพาทและเมื่อนำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจจำเลยก็ระบุว่าได้ว่าจ้างโจทก์ตลอดจนหัวกระดาษใบเสนอราคาและใบแจ้งรายการก่อสร้างเพิ่มเติมก็มีชื่อโจทก์และจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ดังนี้พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทราบดีว่าโจทก์ได้เชิดให้ว. ออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา821ทั้งการลงลายมือชื่อของว. ผู้เสนอราคาและจำเลยลงลายมือชื่อผู้อนุมัติตามก็มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพาทและว. ก็เป็นกรรมการผู้เดียวของโจทก์การรับเหมาก่อสร้างอาคารเป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของโจทก์การกระทำของว. จึงมีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การก่อสร้างงานในช่วงแรกมีปัญหาในการทำงานและจำเลยสั่งให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมจึงได้มีการตกลงให้โจทก์เสนอราคาค่าก่อสร้างเพิ่มเติมตามเอกสารหมายล.9และจำเลยอนุมัติแล้วจำเลยให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมไปก่อนและมิได้ชำระเงินจำนวน704,480บาทตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารหมายล.9โจทก์ทำการก่อสร้างจนกระทั่งเหลืองานชั้นลอยในข้อ2.1และชั้นล่างในข้อ2.2แต่จำเลยก็ไม่ได้ชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมตามที่ตกลงกันไว้โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงหยุดการก่อสร้างเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยหาผู้รับเหมารายอื่นมาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จดังนี้พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยแสดงเจตนาซึ่งเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวหาใช่เป็นเรื่องตกลงผิดสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมสองฝ่ายและการแสดงเจตนาทั้งสองฝ่ายต้องมีวัตถุประสงค์ตรงกันสัญญาจึงจะเลิกกันไม่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ก็ชอบที่จะเรียกค่าก่อสร้างอันเป็นผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วกับค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีนายวรกาญจน์ เตียวเจริญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ กระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2534 จำเลยว่าจ้าง โจทก์ให้ทำการก่อสร้างตกแต่งอาคารร้านวุวรรณไทยการแว่นเป็นเงินจำนวน 880,600 บาท ซึ่งรวมค่าวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์จะต้องจัดซื้อหามาติดตั้งด้วย ตกลงแบ่งชำระเงินค่าจ้าง โดยงวดแรกชำระจำนวน 704,480 บาท เมื่อจำเลยลงนามอนุมัติใบแจ้งราคารายการก่อสร้างที่โจทก์เสนอ จำเลยได้ลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 แต่จำเลยขอผัดผ่อนชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์ได้ดำเนินการตกแต่งและติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ในอาคารดังกล่าวจนใกล้เสร็จโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินงวดแรก แต่จำเลยไม่ชำระทำให้โจทก์ไม่รับความเสียหาย ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2534ถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 11,435 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 715,915 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 704,480 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยให้การว่า ใบแจ้งรายการก่อสร้างเพิ่มเติมท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับตามข้อบังคับของโจทก์จึงไม่ผูกพันโจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพาทแต่จำเลยว่าจ้างนายวรกาญจน์ เตียวเจริญ ในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 ให้รื้อถอนตกแต่งก่อสร้างอาคารพิพาทเป็นเงิน 1,367,440 บาท ค่าว่าจ้างดังกล่าวรวมค่าวัสดุอุปกรณ์ที่นายวรกาญจน์จะต้องจัดซื้อหามาติดตั้งตกแต่งอาคารพิพาทให้เสร็จมีกำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นภายใน 45 วัน นับแต่วันตกลง จำเลยได้จ่ายเงินให้นายวรกาญจน์ ไปแล้วจำนวน 1,093,952 บาท ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพาทยังไม่เสร็จสิ้นตามข้อตกลงในครั้งแรกตามสัญญาว่าจ้าง นายวรกาญจน์ อ้างว่าการคำนวณโครงการสร้างตกแต่งต่อเติมอาคารผิด ต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมนายวรกาญจน์จึงได้ทำใบแจ้งรายการก่อสร้างเพิ่มเติมตามฟ้อง โดยมีรายการซ้ำซ้อนกับการว่าจ้างก่อสร้างตกแต่งครั้งแรก และคิดราคารวมเข้ามาด้วย อีกทั้งราคาสูงเกินความเป็นจริง จำเลยได้ทักท้วง นายวรกาญจน์บอกว่าหากมีการมีรายการซ้ำซ้อนหรือราคาสูงเกินไปก็สามารถตัดทอนลดหย่อนกันได้ จำเลยตกอยู่ในสภาวะจำยอมเพราะมิฉะนั้นนายวรกาญจน์จะไม่ดำเนินการก่อสร้างตกแต่งอาคารให้ในการเบิกเงินค่าจ้างรายการก่อสร้างเพิ่มเติม 704,480 บาทตามฟ้องนายวรกาญจน์ได้สัญญากับจำเลยว่าจะทำการก่อสร้างตกแต่งอาคารตามข้อตกลงในครั้งแรกให้เสร็จก่อนที่จะเบิกเงินดังกล่าวแต่ต่อมานายวรกาญจน์ได้ขอเบิกเงินจำนวน 704,480 บาท จากจำเลยขณะที่งานก่อสร้างตกแต่งอาคารครั้งแรกยังไม่เสร็จ จำเลยจึงไม่ยอมชำระ และแจ้งให้ทราบว่าเงินค่าจ้างจำนวน 1,093,952 บาท ซึ่งจำเลยได้จ่ายให้แล้วนั้นก็เป็นจำนวนเกินกว่ามูลค่างานที่นาวรกาญจน์ทำให้จำเลย ทั้งงานก็ล่าช้าไม่เสร็จตามที่กำหนดจากนั้นในวันที่ 27 พฤษภาคม 2534 นายวรกาญจน์ได้ละทิ้งทั้งครั้งแรกและครั้งหลัง จากการตรวจสอบมีงานหลายรายการที่นายวรกาญจน์ยังมิได้ดำเนินการ และหลายรายการที่ดำเนินการไม่เรียบร้อยหรือไม่ได้มาตรฐาน จำเลยได้ให้นายวรกาญจน์มาดำเนินการก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพาทให้เรียบร้อย แต่นายวรกาญจน์ไม่ยอมดำเนินการนายวรกาญจน์จึงเป็นผู้ผิดสัญญาตกแต่งอาคารพิพาททั้งครั้งแรกและครั้งหลัง จำเลยได้ชำระเงินค่าก่อสร้างตกแต่งให้นายวรกาญจน์ในการว่าจ้างครั้งแรกไปเป็นเงิน 1,093,952 บาท มากกว่ามูลค่าของงานที่นายวรกาญจน์ทำไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่านายวรกาญจน์ลงนามเป็นคู่สัญญากับจำเลยในนามส่วนตัวมิใช่กระทำในนามบริษัทโจทก์หรือกระทำแทนบริษัทโจทก์ เพียงแต่ใบเสนอราคาเอกสารหมาย ล.4 และใบแจ้งราคารายการก่อสร้างเพิ่มเติมเอกสารหมายล.9 มีชื่อบริษัทโจทก์นายวรกาญจน์มิได้แสดงออกโดยชัดแจ้งว่ากระทำในนามส่วนตัวหรือในนามบริษัทโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ระบุในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่และเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพาท และเมื่อนำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจจำเลยก็ระบุว่าได้ว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.21 ตลอดจนหัวกระดาษเอกสารหมายล.4 และ ล.9 มีชื่อโจทก์ และจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.8 ดังนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทราบดีว่าโจทก์ได้เชิดให้นายวรกาญจน์ออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ทั้งการลงลายมือชื่อของนายวรกาญจน์ผู้เสนอราคาและจำเลยลงลายมือชื่อผู้อนุมัติตามเอกสารหมาย ล.9 มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างตกแต่งอาคารพิพาทและนายวรกาญจน์ก็เป็นกรรมการผู้เดียวของโจทก์ การรับเหมาก่อสร้างอาคารเป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของโจทก์ การกระทำของนายวรกาญจน์จึงมีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่าจำเลยผิดสัญญาก่อสร้างและจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อโจทก์เสนอรายการก่อสร้างเพิ่มเติมของเอกสารหมาย ล.9 และจำเลยอนุมัติแล้ว จำเลยให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมไปก่อน และมิได้ชำระเงินจำนวน704,480 บาท ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารหมาย ล.9 โจทก์ทำการก่อสร้างจนกระทั่งเหลืองานชั้นลอยในข้อ 2.1 และชั้นล่างในข้อ 2.2 ตามเอกสารหมาย ล.9 แต่จำเลยก็ไม่ได้ชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.6 แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงหยุดการก่อสร้างเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยหาผู้รับเหมารายอื่นมาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ ดังนี้พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยแสดงเจตนาซึ่งเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวหาใช่เป็นเรื่องตกลงเลิกสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมสองฝ่ายและการแสดงเจตนาทั้งสองฝ่ายต้องมีวัตถุประสงค์ตรงกันสัญญาจึงจะเลิกกันดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวโจทก์ชอบที่จะเรียกค่าก่อสร้างอันเป็นผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วกับค่าเสียหาย แต่ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วเป็นเงินจำนวนเท่าใดเมื่อหักกับจำนวนเงินที่โจทก์รับไปแล้วค่าก่อสร้างเหลืออยู่อีกจำนวนเท่าใด และจำเลยก็นำสืบแต่เพียงว่าเงินค่าก่อสร้างที่จำเลยชำระให้โจทก์เกินกว่าผลงานที่โจทก์ทำไว้เท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share