คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 87/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 4 และมาตรา 11บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่และปลัดกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานบริการประเภทสถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัวซึ่งมีหญิงบริการแก่ลูกค้าชายหรือไม่ก็ได้ การที่บุคคลดังกล่าวใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการนวดแผนโบราณโดยยึดถือนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ย่อมเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 คำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และปลัดกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่อนุญาตโดยไม่สุจริต หรือขัดต่อพยานหลักฐาน หรือฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509ประการใด บุคคลดังกล่าวจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยพิจารณาจากคำฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคล โจทก์เป็นประชาชนชาวไทย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 โจทก์ยื่นขอตั้งสถานบริการ (นวดแผนโบราณ) เพื่อจำเลยที่ 2 พิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 ที่แก้ไขแล้ว ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ไม่อนุญาตโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีนโยบายไม่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการอีก ต่อมาวันที่18 มิถุนายน 2530 โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 โดยผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ได้รับแจ้งว่า จำเลยที่ 1ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์มีอยู่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะนโยบายของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กฎหมายที่จะจำกัดสิทธิของโจทก์ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 ยกอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่อนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการนั้น เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับต่อโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการ (นวดแผนโบราณ) ตามคำขอ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาอนุญาตของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์นั้นชอบหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509มาตรา 4 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการประเภทสถานอาบน้ำนวด หรืออบตัว ซึ่งมีหญิงบริการให้แก่ลูกค้าชาย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมาตรา 11 บัญญัติว่า ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ออกใบอนุญาต ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย คำวินิจฉัยของปลัดกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด ตามบทบัญญัติดังได้กล่าวมาแล้วเห็นได้ว่า กฎหมายห้ามมิให้ตั้งสถานบริการนวดแผนโบราณตามที่โจทก์ประสงค์เว้นแต่โจทก์จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อโจทก์ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการดังกล่าวหรือไม่อนุญาตก็ได้ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการหรือไม่อนุญาตก็ได้เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่และปลัดกระทรวงมหาดไทยที่จะอนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการหรือไม่เช่นนี้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่และปลัดกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการโดยยึดถือนโยบายของกระทรวงมหาดไทยจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2521 แต่ประการใด เพราะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่และปลัดกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจเช่นนั้นได้ นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์ก็มิได้กล่าวว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปลัดกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่อนุญาตให้โจทก์ตั้งสถานบริการโดยไม่สุจริตหรือขัดต่อพยานหลักฐานหรือฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ประการใด ข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงตกไป ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share