คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8690/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี หรือเป็นผู้จัดการกิจการการค้าประเวณี เป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการส่งเสริมการค้าประเวณีอันเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้สังคมเดือดร้อนและต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรงข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูมารดาซึ่งอายุมากและบุตรอีก 2 คน ซึ่งอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ประกอบกับจำเลยเองมีโรคประจำตัวนั้น จำเลยยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย มิฉะนั้นตนเองจะเดือดร้อนและบุคคลในครอบครัวจะขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ข้ออ้างจำเลยดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะนำมารับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 และริบสมุดบันทึกค่าใช้จ่ายของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 4, 11(ที่ถูกมาตรา 11 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 จำคุก 3 ปีจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี6 เดือน ริบสมุดบันทึกค่าใช้จ่ายของกลาง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนและเป็นการส่งเสริมการค้าประเวณีอันเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้สังคมเดือดร้อนและต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูมารดาซึ่งอายุมากและบุตรอีก 2 คน ซึ่งอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ประกอบกับจำเลยเองมีโรคประจำตัวนั้น จำเลยยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย มิฉะนั้นตนเองจะเดือดร้อนและบุคคลในครอบครัวจะขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะนำมารับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share