แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนและใช้เป็นพาหนะในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางโดยอ้างว่าเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ถูกจับขณะขับรถจักรยานยนต์ของกลาง และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ในกระเป๋ากางเกงข้างขวาที่จำเลยที่ 1 สวมใส่ พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 และพบเมทแอมเฟตามีน 82,000 เม็ด ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของกลาง ดังนั้น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 155 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ให้การับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1), 83 สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2), 53 โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 50 ปี ลดโทษแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 37 ปี 6 เดือน และปรับ 750,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 และเงินสด 107,000 บาท ให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนจำเลยที่ 1 ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีพันตำรวจโทอดิรักษ์และดาบตำรวจศักดิ์ คงแสงชัย ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า พันตำรวจโทอดิรักษ์ กับพวกสอบถามจำเลยที่ 1 รับว่าพักอยู่ที่อาร์จีบีคอร์ตกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 พาพันตำรวจโทอดิรักษ์กับพวกไปที่ห้องพักหมายเลข 305 ก็พบจำเลยที่ 2 อยู่ภายในห้อง ดาบตำรวจศักดิ์ได้ค้นตู้เสื้อผ้าภายในห้องพัก ก็พบเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด และเงินสด 107,000 บาท อยู่ใกล้เมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จึงยึดไว้เป็นของกลาง จำเลยที่ 2 ได้ยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวเป็นของตนด้วย มีไว้เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปและเงินสดนั้นได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีก่อนคดีนี้ กับจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจขึ้นไปที่ห้องพักของตน ขณะที่ตนอยู่ภายในห้อง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ได้นำชี้ห้องเกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามภาพถ่าย นำชี้ตู้เสื้อผ้าที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด และเงินสด 107,000 บาท ตามภาพถ่าย ซึ่งตามภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏว่าในตู้เสื้อผ้ามีเสื้อผ้าของผู้หญิงแขวนอยู่ดังที่ดาบตำรวจศักดิ์ผู้ตรวจค้นเบิกความยืนยัน ทั้งๆ ที่ในขณะถ่ายรูปดังกล่าวนั้น ร้อยตำรวจเอกณรงค์วิช สุดกังวาน เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ขอให้การใหม่เป็นให้การปฏิเสธแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้ถามค้านร้อยตำรวจเอกสารณรงค์วิชให้ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้นำชี้ห้องพักและตู้เสื้อผ้าที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด และเงินสด 107,000 บาท โดยไม่สมัครใจ และในหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมซึ่งทนายความของจำเลยที่ 2 แนะนำให้จัดทำขึ้นก็มิได้กล่าวถึงภาพถ่ายดังกล่าว คงกล่าวถึงแต่ภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 ที่สถานีตำรวจที่เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 2 นำชี้ของกลางต่างๆ ที่วางบนโต๊ะว่า จำเลยที่ 2 ไม่รู้เรื่อง ไม่ยอมชี้ เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าให้ชี้ไปก่อนมีอะไรค่อยไปคุยที่ศาล จำเลยที่ 2 จึงยอมชี้และให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่าย ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าวมิได้กล่าวถึงตู้เสื้อผ้าซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ยอมชี้แต่พนักงานสอบสวนบอกว่าให้ชี้ไปก่อน มีอะไรไปเล่าให้ศาลฟังในภายหลัง จำเลยที่ 2 จึงชี้ แล้วเจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้ คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม และข้อแตกต่างนี้ก็มิใช่ข้อแตกต่างในรายละเอียด เพราะตู้เสื้อผ้าดังกล่าวพันตำรวจโทอดิรักษ์กับดาบตำรวจศักดิ์อ้างว่าเป็นตู้เสื้อผ้าที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน มิใช่ตู้เสื้อผ้าธรรมดาทั่วไป จำเลยที่ 2 ย่อมระลึกถึงข้อเท็จจริงนี้ได้ดีการที่หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไม่ได้ระบุถึงตู้เสื้อผ้าดังกล่าวจึงนับว่ามีพิรุธ คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิเสธภาพถ่ายที่จำเลยที่ 2 นำชี้ตู้เสื้อผ้าดังกล่าว ว่าจำเลยที่ 2 ให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้โดยไม่สมัครใจจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 นำชี้และให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ข้อนำสืบของโจทก์ว่าพบเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ของกลางในตู้เสื้อผ้าจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ก็ขัดต่อเหตุผลว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 จึงนำเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของผิดกฎหมายจำนวนมากไปซุกซ่อนไว้ในตู้เสื้อผ้าของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยา ย่อมส่อแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวด้วย และที่ดาบตำรวจศักดิ์เบิกความว่า ในห้องพักของจำเลยที่ 2 มีตู้เสื้อผ้าใบเดียว แตกต่างจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกณรงค์วิชพนักงานสอบสวนซึ่งไปตรวจดูสถานที่เกิดเหตุ และข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายที่ปรากฏว่ามีตู้เสื้อผ้า 2 ใบ ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย มิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้ถึงกับไม่อาจรับฟังว่ามีเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ในห้องพักของจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกา เชื่อได้ว่าพันตำรวจโทอดิรักษ์และดาบตำรวจศักดิ์พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 20,000 เม็ด ในตู้เสื้อผ้าในห้องพักของจำเลยที่ 2 จริง ไม่ใช่แกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 โดยเหตุจูงใจเพื่อหวังเงินรางวัลหรือความดีความชอบดังที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกา ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาข้างต้นจึงมีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมครอบครอง เมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด กับจำเลยที่ 1 ด้วย มิใช่จำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดแต่ผู้เดียว และเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ดังกล่าวนี้ได้ความตามรายงานการตรวจพิสูจน์ซึ่งจำเลยที่ 2 แถลงยอมรับว่าร้อยตำรวจเอกหญิงธิติมา ธรรเมศรานนท์ รองสารวัตรงาน 2 กองกำกับการ 5 กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจพิสูจน์แล้วคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 394.547 กรัม ซึ่งเกินกว่า 375 มิลลิกรัม จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนและใช้เป็นยานพาหนะในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางโดยอ้าวงว่าเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทเฟตามีน กับขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ถูกจับขณะขับรถจักรยานยนต์ของกลาง และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ในกระเป๋าการเกงข้างขวาที่จำเลยที่ 1 สวมใส่ พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 และพบเมทแอมเฟตามีน 82,000 เม็ด ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของกลาง ดังนั้น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบรถจักรยานยนต์ รถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง รถจักรยานยนต์ของกลางและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคืนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ธพก กรุงเทพมหานคร 867 รถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ศ-5646 กรุงเทพมหานคร และโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 1 เครื่อง ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1