แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ยาเสพติดที่มีชื่อว่า “3, 4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน” เป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งจัดอยู่ในประเภท 1 ส่วน “คีตามีน” เป็นวัตถุออกฤกธิ์ในประเภท 2 การมียาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไว้ในครอบครอง เป็นความผิดตามกฎหมายคนละฉบับอันเป็นการแสดงว่ากฎหมายแต่ละฉบับต่างมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 5, 6, 62, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (3, 4 -เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครอง ลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) ไว้ในครอบครอง จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองและฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครอง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีของจำเลยคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อ 2.1 ว่า การที่จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองในคราวเดียวกันเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า 3, 4 -เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษจัดอยู่ในประเภท 1 ส่วนคีตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 การมียาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไว้ในครอบครอง เป็นความผิดตามกฎหมายคนละฉบับ อันเป็นการแสดงว่ากฎหมายแต่ละฉบับต่างมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ชอบที่ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน